วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องของ........ยายปุ่น..

     บ้านไม้ชั้นเดียว รอบ ๆ มีต้นไม้ใหญ่เล็ก ดูร่มรื่นน่าอยู่ ถ้าเปรียบกับในเมืองแล้วคงมีแต่ฝุ่นควันเสียงรถวิ่งไปมา “ยายปุ่น” เสียงตะโกนเรียกด้วยน้ำเสียงใจดีและเป็นกันเองของป้าแน่ง ที่ต้องใช้คำว่าตะโกนร้องเรียกยายปุ่น เพราะยายปุ่น เป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน หูยายตึงมาก สักครู่ดิฉันมองเข้าไปใต้ถุนบ้านเห็นหญิงวัยชรา กำลังนั่งล้างจานอยู่คนเดียว “ยายปุ่น หมอมาเยี่ยม” ป้าแน่งทักทายยายปุ่นพร้อมกับสวัสดี ยายปุ่นลุกจากที่ล้างจานแล้วรีบออกมาต้อนรับทันที ดิฉันรู้สึกได้ว่ายายปุ่นยินดีและดีใจมากที่เห็นหมอแน่งมาเยี่ยมที่บ้านพร้อมกับดิฉันซึ่งวันนี้ใส่ชุดพยาบาลสีขาวมาด้วย สักพักไพบูรณ์ ลูกสาวของคุณยายปุ่นก็มาร่วมพูดคุยกับเราด้วย วันนี้เรามาเยี่ยมยายปุ่น และมาตรวจร่างกายยายปุ่น ยายสุขภาพแข็งแรงดี แต่ที่สำคัญสุขภาพจิตใจของยายคงดีมากเพราะมองจากสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใสตลอดการพูดคุย และมองไปบริเวณรอบ ๆ บ้านยังมีบ้านของลูก ๆ อยู่อย่างใกล้ชิด
ปัญหาของยายปุ่นทีเราพบคือว่าเมื่อไหร่ที่ไปตรวจที่โรงพยาบาลตามนัดทีไรยายก็มีระดับน้ำตาลสูงหรือไม่ก็น้ำตาลต่ำ จึงทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก ทำให้เราต้องลงเยี่ยมบ้านของยายเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา แล้วก็พบว่า ยายจะฉีดยา Insulin ก่อนไปเจาะเลือดวันนัดเบาหวานทุกครั้ง อ๋อ นี่เองคือสาเหตุปัญหา เรานั่งคุยกับยายอยู่นาน จึงถามยายปุ่นถึงเรื่องรับประทานยา “ยายค่ะ ยาตัวนี้ทำไมเหลือน้อยจัง” ยายปุ่นหยิบซองยามาดูและบอกว่า “กินวันละเม็ด” ป้าแน่งมองไปที่ซองยา ยานี้ให้กินวันละ 1 เม็ดตอนเข้า แต่ดูที่ OPD Card หมอสั่งยาใหม่ให้กินวันละครึ่งเม็ด “คุณยายกินยาผิดแล้ว” ซองยานั้นเป็นซองยาเก่าที่หมอสั่งมานานแล้วแต่ตอนนี้หมอลดยาลง ดิฉันจึงเขียนซองยาพร้อมอธิบายให้ยายปุ่นเข้าใจวิธีการกินใหม่ ซึ่งยายตั้งใจฟังและบอกว่าจำได้ เราทวนสอบความเข้าใจของยาย ยายก็ตอบคำถามได้เป็นอย่างดี เรานั่งคุยถามเรื่องทั่ว ๆ ไปกับยายปุ่น ยายคุยไปยิ้มไป สักพักเราก็ลายายปุ่นกลับโรงพยาบาล
    มาเยี่ยมบ้านครั้งนี้ทำให้ฉันรู้ว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ ในขณะที่เราทำงานในที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว การมาเยี่ยมบ้านเราได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตในแบบของชาวบ้าน เราได้รู้ถึงความลำบาก และการดูแลตนเองของคนไข้ที่เราพบเห็น วันนี้ดิฉันรู้สึกดีใจที่ป้าแน่งได้มาสอนประสบการณ์ใหม่ ๆ ดี ๆ ที่ทำให้เราได้รู้ในอีกมุมหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งมันไม่เหมือนกับการดูแลในหอผู้ป่วยในที่ทำงานอยู่ทุกวัน ประสบการณ์ครั้งนี้ดิฉันจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยและการทำงานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น