วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เพราะรัก


        วันนี้ตื่นเช้ามารู้สึกกังวลเล็กน้อย เพราะว่าตอนบ่ายจะได้ออกไปเยี่ยมบ้านซึ่งเป็น Case ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV สิ่งที่กังวลก็คือเกรงว่าจะไปเพิ่มความกดดันให้กับผู้ป่วยและครอบครัว     เมื่อถึงเวลา 14.00 น. พี่วิวรรธน์ (ฝ่ายเวชฯ)ได้พาไปเยี่ยมผู้ป่วย ขณะนั่งรถไปพี่วิวรรธน์ก็ชวนคุยตลอดทางเกี่ยวกับเทคนิคการไปเยี่ยมบ้าน และบอกว่าถ้าชาวบ้านถามว่าทำไมต้องมาเยี่ยมให้ตอบว่า มาติดตามเยี่ยมอาการผู้ป่วยหลังกลับจากโรงพยาบาล (เหมือน          พี่วิวรรธน์มานั่งในใจว่า เรากังวลเรื่องอะไร)เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย ความกังวลใจ ความวิตกกังวลก็หายไปจนหมด เพราะทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยรวมทั้งพี่วิวรรธน์พูดคุยอย่างเป็นกันเอง และญาติผู้ป่วยมีสีหน้าที่ประทับใจพี่วิวรรธน์มาก เมื่อพี่วิวรรธน์ถามว่า “เป็นจั๋งใดกลับมาอยู่บ้านมีอะไรทุกข์ใจไหม” ผู้ป่วยและญาติบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะทุกข์ใจเพราะไม่เคยปิดบัง ว่าลูกตนเองเป็นเอดส์ ถึงแม้ว่าจะมีคนในหมู่บ้านพูดถึงก็ไม่สนใจ ครอบครัวเราสามารถอยู่ด้วยกันได้เพราะรักลูก และไม่ได้ขอความช่วยเหลืออะไรจากใคร และโรคนี้สามารถอยู่ด้วยกันได้เพราะมันไม่ได้ติดกันง่าย ๆ หมอบอกว่าโรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และทางเลือด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และผู้ป่วยบอกว่าขณะกลางวันจะอยู่กับมารดาให้มารดาดูแลส่วนกลางคืนจะไปอยู่กับสามีที่บ้านแม่สามี ซึ่งทุกคนในครอบครัวก็เข้าใจผู้ป่วยและการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี
       ในการไปเยี่ยมบ้านครั้งนี้ทำให้เรารับรู้เลยว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคให้ผู้ป่วยและญาตินั้นสำคัญมากซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและญาติสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้กับโรคได้อย่างมีความสุข
เล่าโดยจำนงค์  ยิ่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พยาบาลเยี่ยมบ้านสมัครเล่น


ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ที่ต้องได้ไปเยี่ยมบ้าน เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจเมื่อได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมบ้าน ประสบการณ์เยี่ยมบ้าน ที่เคยผ่านมา ก็ตั้งแต่สมัยเรียนภาควิชาอนามัยชุมชน จบพยาบาลมาก็ได้ทำงานในหอผู้ป่วยในเลย บรรยากาศการทำงานก็ต่างกัน รู้สึกหนักใจก็บอกไม่ถูกเหมือนกันที่ต้องผันตัวเองมาเป็นพยาบาลเยี่ยมบ้านสมัครเล่น ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ลงเยี่ยมบ้านของจริง เพราะเคยแต่เห็นพี่ ๆ ที่ไปเยี่ยมบ้าน ที่หอผู้ป่วยใน 1 จะไปเยี่ยมผู้ป่วยวันศุกร์ ช่วงเวลาบ่ายกลับมาก็มืดค่ำ ผมกระเซอะกระเซิงมา บางครั้งก็หน้าซีดหน้าเหลือง ไม่เหลือคราบของความเป็นพยาบาลซึ่งเห็นมีช่วงหนึ่งที่เขาเปิดรับสมัครพยาบาลเยี่ยมบ้านคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะลองดูไหม และชั่งใจตัวเองว่าจะทำได้หรือเปล่าเพราะปัญหาของผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นคนมีปัญหาซับซ้อน เราจะแนะนำพูดคุยกับเขาได้ไหม แต่มันก็เป็นการท้าทายอย่างหนึ่งของการเป็นพยาบาล อีกอย่างหนึ่ง อยากลองดูชุมชนว่าจะเป็นอย่างไร สุดท้ายก็เลยตัดสินใจลงชื่อเพื่อเป็นพยาบาลเยี่ยมบ้านด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นพยาบาลต้องทำได้ทุกอย่าง”

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับการมอบหมายก็จะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตอนนั้นที่ได้ไปเยี่ยมรู้สึกว่าโชคดีมากที่ไม่ต้องไปเยี่ยมคนเดียว เพราะมีหมอ Fam Med ไปด้วย พร้อมด้วยนักกายภาพบำบัดก็เลยทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นมานิดหนึ่ง อย่างน้อยก็ไม่ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบ หัวใจก็รู้สึกพองโตขึ้นมาทันที ยิ้มอยู่ในใจเล็กน้อย ที่มีเพื่อนร่วมทางไปเยี่ยมบ้าน ด้วยคำว่า “สหวิชาชีพ” ระหว่างการเดินทางก็พูดคุยกันไป และคุยเรื่องผู้ป่วยบ้าง ประสบการณ์การเยี่ยมบ้านของแต่ละคน พร้อมทั้งวางแผนอย่างคร่าว ๆ ความคิดเห็นแต่ละคน บางครั้งก็นอกเรื่อง ชมนก ชมไม้ไปตามทางเพื่อไม่ให้เป็นการซีเรียส ช่วงแรก ๆ ก็คุยได้นะพอไปซักพักทุกคนก็จะเงียบ เพราะจะมีอาการมึนศีรษะ ง่วงนอนและอาจจะอ้วกได้ เนื่องจากทางที่คดเคี้ยว และทางเป็นหลุมเป็นบ่อ กว่าจะถึงเป้าหมาย คือ บ้านของผู้ป่วยก็สัปหงกหลายครั้งเหมือนกัน หน้าซีดหน้าเหลือง ตอนนี้แหละที่รู้สึกเห็นใจรุ่นพี่ที่ไปเยี่ยมบ้าน ก็อยากรู้สึกแบ่งเบาภาระในการเยี่ยมบ้าน และเห็นใจผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหาหมอเวลาที่ไม่สบายยิ่งถ้าไม่มีรถเป็นของตนเอง ก็เหมารถหมดไปหลายตังค์เหมือนกัน และกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลอีกเพราะระยะทางไกลพอสมควร และจะเข้าไปบ้านผู้ป่วยก็ต้องใช้วิธีการถามชาวบ้าน เพราะไม่รู้อย่างชัดเจนว่าบ้านของผู้ป่วยหลังไหน เมื่อถึงเป้าหมายคือบ้านของผู้ป่วยที่ไปเยี่ยมทุกคนในรถก็พยายามเรียกสติตัวเองกลับคืนมา และดูสภาพตัวเองก่อนลงรถ พร้อมด้วยกระเป๋าเยี่ยมบ้านและ OPD Card ที่เราศึกษาประวัติของผู้ป่วยอย่างคร่าว ๆ โชคดีที่เคยรู้จักผู้ป่วยที่เคย Admit มาก่อนจึงไม่ต้องสร้างสัมพันธ์ภาพให้เสียเวลามากนัก เพราะผู้ป่วยและญาติก็คุ้นเคยกันมาก่อนเมื่อครั้งที่นอนโรงพยาบาล

พรพรรณ เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะสุดท้ายที่ต้อง Control pain ด้วย Mophine ที่บ้านผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้นที่พบคือ อ่อนเพลีย กินได้น้อยและมี Colostony หน้าท้อง เดินไม่ได้ นอนตลอดเวลา ผอมแห้ง แต่พอเจ้าหน้าที่เดินเข้าไปในบ้านและทักทายก็พยายามยกมือไหว้ และพยายามจะยิ้มให้เจ้าหน้าที่ทีมเยี่ยมบ้านของเรา แต่ดูจากนัยน์ตา บวกกับรอยยิ้มของพรพรรณก็ทำให้เราสัมผัสได้ว่าพรพรรณดีใจที่เราไปเยี่ยมบ้าน ระหว่างพูดคุยซักถามก็จะมีสามีของพรพรรณคอยต้อนรับและพูดคุยถึงอาการเจ็บป่วยของพรพรรณ และมีลูกสาวคนเล็กคอยนั่งอยู่ใกล้ ๆ สามีพรพรรณบอกว่าตอนนี้เกิดแผลกดทับที่สะโพกทั้งสองข้างแล้ว ทำแผลให้ทุกวัน พรพรรณกินได้น้อยลง ยาแก้ปวดยังสามารถควบคุมการปวดของพรพรรณได้ ส่วนใหญ่การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันสามีจะเป็นคนทำให้ ที่ฝึกมาจากโรงพยาบาลแต่ดูท่าทางพรพรรณจะเริ่มมีอาการปวดมากขึ้น เพราะชอบนอนท่าเดียวนาน ๆ ไม่อยากพลิกตะแคงตัว สังเกตได้จากหมอขอดูแผลที่ก้นและสะโพก พรพรรณน้ำตาไหลพราก ๆ ลง 2 แก้ม เพราะไม่อยากพลิกตัวให้ดูบอกว่า “เจ็บหมอ” มันช่างเป็นความทรมานที่บอกไม่ถูก และเห็นใจอย่างมาก ขนาดยังไม่ได้ทำอะไรผู้ป่วยยังเจ็บขนาดนี้ในใจคิดถ้าแบ่งเบาความเจ็บปวดได้คงดี จะได้แบ่งเบาความเจ็บปวดนี้ได้ แต่หน้าที่ของเราก็ทำได้คือ แนะนำให้ผู้ป่วยยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่ ทนกับความเจ็บปวด และวิธีการเบี่ยงเบนกับความเจ็บปวด ผู้ป่วยมีสีหน้าเรียบเฉยและรับฟังเจ้าหน้าที่ ทีมเยี่ยมบ้านก็พูดคุยกับสามีพรพรรณในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เรื่องกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย การดูแลทำความสะอาดร่างกาย และการบริหารยาแก้ปวดของผู้ป่วย ซึ่งจากการสอบถามและพูดคุย สามีของพรพรรณทำได้ดีทีเดียว ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยใน 1 ทุกคนที่ฝึก Care giver ได้ดี อย่างสามีพรพรรณ ทำให้การเยี่ยมบ้านครั้งนี้เป็นไปด้วยดีพยาบาลเยี่ยมบ้านก็รู้สึกมั่นใจขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง และรู้สึกโล่งใจที่สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้ นึกว่าจะทำไม่ได้อยู่แล้วเชียว กลับมาก็ได้ภาวนาว่า อย่าให้พรพรรณทรมานมากที่ต้องสู้กับความเจ็บปวดของมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่กลับบ้านกันแล้ว ถึงจะค่ำก็รู้สึกดีดีที่ได้การเยี่ยมบ้านสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สภาพของเราที่กลับมาก็ไม่แพ้รุ่นพี่ที่เขาไปเยี่ยมบ้านมาเหมือนกัน(เข้าใจแล้วจริงๆ)


เล่าโดย บุญลักษณ์  แว่นทอง

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พ่อเพื่อน


บางครั้งการได้เปลี่ยนเส้นทางการเดินใหม่ ๆ ก็ทำให้เราได้พบเจออะไรใหม่ ๆ และอีกหลาย ๆ ด้านของชีวิต ครั้งหนึ่งฉันเคยได้ไปเยี่ยมผู้ป่วย วันนั้นเป็นวันออกหน่วยคลินิกเบาหวานที่หนองผือ และมี Plan เยี่ยมบ้านจากฝ่ายกายภาพด้วยในฐานะที่ฉันเป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพจึงได้ไปด้วย ซึ่งเป็นที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านหนองผือ นั่นคือ ต.นาหอ นั่นเอง

วันนั้นฉันมีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งที่ชื่อลุงประจักษ์ นนทะโคตร ซึ่งเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลเลยได้ไม่นานจากการเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลยจากอุบัติเหตุตกต้นมะพร้าว กระดูกหัก ทำให้ร่างกาย คือตั้งแต่เอวลงไปจนถึงขาไม่รู้สึกตัว

ลุงประจักษ์อยู่บ้านกับภรรยาและลูกจำนวน 3 คน มีหลานตัวเล็กๆ 1 คน กำลังช่างพูด ก่อนที่ลุงประจักษ์จะเกิดอุบัติเหตุเดิมทีลุงประจักษ์เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาก่อน ลุงประจักษ์กลับมาจากโรงพยาบาลเลยด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะร่วมด้วย ใส่ที่ดามหลังจากโรงพยาบาลเลย หรือภาษาทางกายภาพเรียกว่า Brace ลุงประจักษ์กลับมาอยู่บ้านด้วยสภาพจิตใจที่ยังไม่แข็งแรงนักเนื่องจากเดิมเคยทำอะไรได้ทุกอย่างแต่วันนี้ขาใช้การไม่ได้ บ้านที่ถูกต่อเติมแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ชั้นบนเป็นบ้านไม้ หลังเดิมส่วนชั้นล่างกำลังถูกต่อเติมอย่างกว้างขวางใหญ่โต เหมือนรู้ว่าต้องสร้างไว้เพื่อตนเองจะได้อยู่ข้างล่าง ภรรยาลุงประจักษ์อยู่เตียงนอนชั้นบน ถ้าเดินขึ้นบันไดไปก็จะต้องเจอเตียงลุงประจักษ์ทันที ข้างเตียงเป็นหน้าต่าง ซึ่งเกือบจะเทียบเคียงกับเตียง ฉันยังแอบกลัวอยู่ในใจว่า กลัวลุงประจักษ์จะกระโดดหน้าต่างตายหากคิดมากหรือซึมเศร้าแต่ลุงไม่ได้ทำอย่างนั้น การไปเยี่ยมบ้านวันนั้นเราไปให้ความรู้เรื่องการดูแลสายสวนปัสสาวะการทำกายภาพที่บ้าน และการดูแลทำกายภาพต่อเนื่องที่โรงพยาบาลพูดคุยเพื่อให้กำลังใจ และให้ลุงประจักษ์ได้มีเป้าหมายในชีวิตในการดูแลตนเอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ลุงประจักษ์ ยังคงใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้เหมือนเดิม มาทำกายภาพกับโรงพยาบาลเป็นประจำจนเริ่มเดินได้ โดยใช้แรงจากแขนและไม้ดามขาช่วยอีกทางทำให้ลุงประจักษ์ดูมีกำลังใจมากขึ้น ฉันพบกับลุงประจักษ์อีกครั้งในวันที่มีการถ่ายทำหนังสั้นของโรงพยาบาล และก็พบว่ามันมีความแตกต่างจากวันแรกที่ไปเยี่ยมบ้านมา ดูสดใส และดูปรับตัวกับร่างกายของตนเองได้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลุงประจักษ์ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ก่อนหน้าที่ฉันจะเขียนเรื่องเล่านี้ฉันไปขอยืม OPD Card ที่ห้องบัตรและต้องตกใจว่าคนที่ฉันจะไปเยี่ยมบ้านเป็นพ่อของเพื่อนฉันเองซึ่งได้รู้จักกันช่วงที่มาทำงาน ทำให้ฉันยิ่งอิ่มเอมใจมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณพื้นที่เล็กๆ พื้นที่หน้าที่ที่ทำให้ฉันได้ทบทวนความรู้สึกในอีกเส้นทางเดินหนึ่งของชีวิตการได้มีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของการต่อกำลังใจคนที่รู้สึกสูญเสียมันช่างวิเศษจริงๆ และฉันจะทำมันต่อไป

2 พ.ย.54
จุรีวรรณ ตันโยสิ