วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความภูมิใจ.....ของวิชาชีพพยาบาล

     ช่วงปี 2551 ทางโรงพยาบาลได้ให้โอกาสที่ดีไปอบรม  เรื่องสมาธิบำบัดที่วัดปัญญานันทาราม  คลอง  3  จังหวัดปทุมธานี  เป็นเรื่องโชคดีของชีวิตที่ได้มีโอกาสไปอบรมลักษณะนี้  เพราะนำมาใช้กับการทำงานและชีวิตได้ด้วย  ต้องขอขอบคุณหัวหน้างานมากค่ะ  ที่ให้โอกาส  การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายประเมินกิจกรรมสมาธิบำบัดอยู่ในระดับดีเยี่ยม
       โครงการศูนย์สมาธิบำบัดสำหรับผู้ป่วยและญาติ  เป็นโครงการที่จัดขึ้นตามแผนปฏิบัติการของโรงพยาบาลในปี  พ.ศ.2549-2552  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อจัดตั้งเครือข่ายศูนย์สมาธิบำบัดสำหรับผู้ป่วยและญาติในสถานบริการ  รวมทั้งหาต้นแบบในการพัฒนาสุขภาพให้มุ่งไปสู่การสร้างสุขภาพแบบองค์รวม  แนวพุทธ  โดยใช้สมาธิบำบัดเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินการฝึกและพัฒนาจิตให้เกิดสมรรถภาพจิต  คุณภาพจิต  และสุขภาพจิตที่ดี  เพื่อตอบสนองนโยบายคนไทยแข็งแรง  เมืองไทยแข็งแรง  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย  คือ  ผู้ป่วย  ญาติ  บุคลากรทางการแพทย์  และประชาชนทั่วไปในเขตรับผิดชอบของสถานบริการ
       สุขภาพองค์รวมแนวพุทธ  และสมาธิบำบัดได้เริ่มเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จ ณ. โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ทรงตรัสแก่ข้าราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามเสด็จว่า
   “สมาธิเป็นเรื่องที่มีประโยชน์  ควรนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังในทุกโรงพยาบาลทั่วทั้งประเทศ  และน่าจะนำไปใช้ที่บ้านด้วย”
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  10/พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติให้ความหมายของสุขภาพหมายถึง  “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย  จิตใจ  ทางปัญญาและทางสังคม  เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล”
      นพ.ชูฤทธิ์  เต็งไตรสรณ์  หัวหน้างานสมาธิบำบัด  กองการแพทย์ทางเลือก  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ท่านเป็นวิทยากรประจำตลอดการอบรม  ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ป่วยแนวพุทธ
    วันแรกของการอบรมวิทยากรบอกกับผู้เข้าอบรมว่าให้ทุกคนถอดหมวกไว้ที่บ้านก่อนท่านที่สวมหมวกหลายใบ  ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบไม่ใช่หมวกจริงๆ  ผู้เข้าอบรมบางท่านเป็นหัวหน้าตึก  หัวหน้างานต่างๆ  ภรรยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เป็นแม่ของลูก  เป็นภรรยา  ฯลฯ  แต่ทุกคนมาอบรมต้องปล่อยวาง  รับการอบรมอย่างเต็มที่
    ช่วงอบรมมีพระอาจารย์สลับกันมาให้ความรู้ตลอด  รู้สึกประทับใจกับคำสอนของพระอาจารย์ทุกท่านที่ให้แนวคิดมาใช้ในชีวิตและการทำงาน  มีท่านหนึ่งที่ประทับใจมาก  ท่านเป็นพระอาจารย์ฝรั่ง  ท่านมาอยู่เมืองไทยนานแล้ว  พูดภาษาไทยชัดเจน  ท่องภาษาบาลีได้เก่งมาก  ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า  คนเราไม่ต้องคิดอะไรมากปล่อยวางจิตใจไม่ฟุ้งซ่านเพื่อจะได้ทำงานอย่างมีความสุข  มีคนคิดเชิงบวกไว้  สมมุติว่าเงินเดือน  15,000  บาท  ให้คิดว่า  5,000  บาท  เป็นค่านายว่า  5,000  บาท  ค่าเพื่อนร่วมงานตำหนิ  นินทา  อีกที่เหลือ  5,000  บาท  ก็เป็นค่าทำงาน  คิดได้อย่างนี้แล้ว  สบายใจเมื่อถูกตำหนิ  ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามเกี่ยวกับงานจะไม่ท้อแท้หรือหมดกำลังใจง่าย  จึงทำให้มีมุมมองในการคิดและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้วิธีเปลี่ยนความคิดที่ตัวของเราเองก่อน
      ศูนย์สมาธิบำบัดที่กล่าวถึง  หมายถึง  ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทาน  ศีล  ภาวนา  ให้กลุ่มเป้าหมาย  หลัก  3  กลุ่ม  คือ  กลุ่มผู้ป่วย  ญาติ  เจ้าหน้าที่  และประชาชนทั่วไปในเขตรับผิดชอบของสถานบริการทางด้านสุขภาพนั้นๆ
     ศูนย์สมาธิบำบัดมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเป็นกิจกรรมที่นำหลักธรรมทางศาสนาในเรื่อง  ทาน  ศีล  ภาวนา  สถานบริการนั้น  เพื่อให้เกิดสติหรือความสุขสงบทางอารมณ์  เพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วยให้กลับคืนสู่วัฒนธรรมทางแพทย์ดั้งเดิมของคนไทยในอดีตเพื่อฝึกการออกกำลังจิตในกลุ่มผู้ป่วย  ญาติ  เจ้าหน้าที่  และประชาชนในเขตรับผิดชอบและที่สำคัญ  เพื่อลดข้อร้องเรียนด้านพฤติกรรมในการให้บริการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
        กิจกรรมทาน  เป็นกิจการที่เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจให้เกิดความเสียสละ  ลดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ได้แก่  การบริจาค  การทำบุญ  การตักบาตร  การปล่อยสัตว์  การให้ธรรมะหรือความรู้  การถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ป่วยและญาติ
      กิจกรรมศีล  เป็นกิจการที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีงามถูกต้องเหมาะสม  ได้แก่  กิจกรรม  5  ส   การตรงต่อเวลา  การส่งเสริมสุขภาพ  การรักษาสิ่งแวดล้อม  การประหยัดพลังงานของสถานบริการ
        กิจกรรมภาวนา  เป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดสติ  เกิดการตั้งมั่น  สงบนิ่ง  เป็นสมาธิไม่ก่อให้เกิดโทษต่อตนเองและผู้อื่น  เช่น  การสวดมนต์  การนิ่งสมาธิ  การแผ่เมตตา  การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
      สำหรับสมาธิบำบัดในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย  มีกิจกรรมที่ทำสนใจ  คือ  การทำบุญตักบาตรทุกวันพระ  8  ค่ำ  15  ค่ำ  ก่อนวันพระ  1-2  วัน  พยาบาล/ผู้ช่วยเหลือคนไข้  ประกาศเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ป่วยเตรียมใส่บาตรพรุ่งนี้  นิมนต์พระสงฆ์จากวัดป่าเนรมิตวิปัสสนา  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  จำนวน  3  รูป  คุณไกรลาศ พิมพ์รัตน์  จิตอาสารับส่งพระ  สลับกับพนักงานขับรถของ  รพ.  สถานที่ใช้บริเวณห้องโถงหน้าตึกผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือลุกลำบากหากประสงค์จะทำบุญ  นิมนต์พระสงฆ์  ใส่บาตรที่เตียง  เจ้าหน้าที่เตรียมกระจาดใส่ของ  แก้วน้ำ  ขวดน้ำสำหรับกรวดน้ำให้มีบทสวดมนต์ให้อ่าน  กล่าวคำถวายเสร็จหอผู้ป่วยใน  1  ต่อด้วยหอผู้ป่วยใน  2  ถ้าหากผู้ป่วยและญาติไม่ทันก็สามารถตักบาตรบริเวณทางเดินพระสงฆ์ลงมาได้
       สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกวัน  เวลาทำกิจกรรมประมาณ  19.30-20.00 น.  เตรียมผู้ป่วยจัดสิ่งแวดล้อมให้สงบปิดไฟ  ประกาศเสียงตามสายเชิญชวนเตรียมตัวสวดมนต์ไหว้พระ  หันหน้าไปทางหิ้งพระประจำตึกฝั่งหญิงฝั่งชาย  จากนั้นจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยพักผ่อน
     ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเกือบทั้งหมด  นับถือศาสนาพุทธเมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ไม่พลาดโอกาสที่ได้ทำบุญและสวดมนต์ไหว้พระทำให้รู้สึกเหมือนผู้ป่วยทำให้สามารถปรับตัวขณะอยู่โรงพยาบาลได้ง่าย  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และญาติ  ผู้ป่วยและญาติไว้วางใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น  ทำให้การพูดคุยปัญหาผู้ป่วย  การให้คำแนะนำต่างๆ  ง่ายขึ้น  อีกทั้งได้ฟังวัฒนธรรมมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล

วิชาชีพพยาบาล.......

        วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน  ความรู้ที่มีในตำราต้องนำมาปฏิบัติกับผู้ป่วย  ซึ่งหมายถึง  ความเป็นความตาย  ฉะนั้นทุกอย่างที่ทำกับผู้ป่วยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ  แต่ก่อนที่จะได้ลงมือปฏิบัติกับผู้ป่วย  ย้อนไปอดีตขณะเป็นนักศึกษาพยาบาล  ก็จะมีอาจารย์พยาบาลเป็นคนกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด  จบเป็นพยาบาลใหม่เข้าทำงานจะมีพี่พยาบาลคอยดูแลทุกอย่างที่เราปฏิบัติกับผู้ป่วย  จะเห็นได้ว่าวิชาชีพเราเป็นวิชาชีพที่พี่สอนน้อง  เพราะน้องใหม่ที่จบมายังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะนอกเหนือจากตำราที่เรียนมา 
       ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นน้องใหม่  ประสบการณ์ต่างๆ  ที่พี่สอนรู้สึกประทับใจและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้เขียนอยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีๆ  ในการทำงานแก่น้องพยาบาลที่จบใหม่  สิ่งที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลน้อง  เช่น  สิ่งปวดล้อมและความปลอดภัย  การดูแลผู้ป่วยวิกฤต  เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญในหน่วยงาน  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ในหน่วยงานที่สำคัญ  ได้แก่  Defibrillator,  EKG  Defibrillator  น้องใหม่ที่จบมาบางคนยังไม่เคยเห็นไม่เคยใช้  ติด  Lead  ยังไม่เป็น  ต้องบอกว่าแดงเหลืองเขียวติดบริเวณใดแล้ว  ยังมีคู่มือเป็นไกด์ติดไว้ที่ตัวเครื่องเพื่อได้ทบทวน  สิ่งที่สำคัญคือการดูแลรักษาหลังใช้งาน  ควรเช็ดเจล ออกจาก  papdle  ม้วนเก็บสายให้ดีไม่ให้สายแตกหัก  เพราะเคยมีสายแตกจนได้เปลี่ยนสายใหม่แล้ว   EKG  จะมีปัญหาน้องใหม่ติด  Lead  ยังไม่คล่อง  จึงต้องบอกว่าท่องจำได้จะเร็วขึ้น  คือเริ่มจากแดง  เหลือง  เขียว  น้ำตาล  ดำ  ม่วง  แต่ไม่จำก็ได้ให้ดูที่สีและคู่มือที่เป็นไกด์ไว้กับตัวเครื่อง  ที่สำคัญใช้งานเสร็จควรนับอิเล็กโทรตให้ครบ ห้ามหายห้ามแตก  และที่สำคัญเมื่อกระดาษหมด  เปลี่ยนใส่อย่างไรก็สำคัญ  ดังนั้น  หอผู้ป่วยเราจึงมีการดูแลตรวจสอบความพร้อมใช้ของเครื่องมือในหน่วยงานทุกวันเพื่อให้พร้อมใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย
            จะเห็นได้ว่าบทบาทพยาบาลนอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้ว  ในองค์กรก็ต้องมีการดูแลซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะน้องใหม่เพราะยังขาดประสบการณ์ในการทำงานเพื่อให้ได้เป็นพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเป็นคลื่นลูกใหม่ของวิชาชีพต่อไป

ประสบการณ์ดีดี

     เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่งดิฉัน พี่ต่าย ฝ่ายกายภาพและพี่แน่งฝ่ายเวชฯ ได้ไปเยี่ยมบ้านตาประสิทธิ์ ศรีพรหม ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีปัญหาเรื่องการลุกเดินทำกิจกรรม เรื่องหอบ หลังจากที่ดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านไปถึงบ้าน ลูกเขยของคุณตาได้พาดิฉันและทีมเยี่ยมบ้าน เข้าไปหาคุณตาที่ห้อง (ส่วนตัว) ของคุณตา เป็นห้องที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเกือบทุกอย่าง เช่น TV, ห้องน้ำ, พัดลม ฯลฯเมื่อคุณตาเห็นดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านดูท่าทางคุณตาดีใจมาก ส่งเสียงทักทายทันที และสอบถามเกี่ยวกับเรื่องที่สงสัย แต่คุณตาค่อนข้างหูตึงจึงต้องสื่อสารกันโดยการเขียนข้อความให้อ่าน ส่วนคุณตาก็สวมแว่นตา และมีแว่นขยายข้าง ๆ ทีมเยี่ยมบ้านเริ่มต้นด้วยการประเมิน V/S ได้ความดันโลหิต120/80 mnHgหลังได้รับยาความดันโลหิตสูงไปรับประทาน ดิฉันบอกคุณตาว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ คุณตาดีใจมาก ต่อมาก็ประเมินเสียงปอด เสียงปอดปรกติ ถามถึงยาพ่น คุณตาหยิบออกมาให้ดู และพยายามจะกดให้ดูแต่ไม่มีแรง ลูกเขยต้องมาช่วยกดให้คุณตาๆสูดยาเข้าปอดได้ ลูกเขยคุณตาบอกดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านว่าคุณตาจะเชื่อฟัง และปฏิบัติตามที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่แนะนำเท่านั้น แต่เมื่อญาติหรือคนรู้จักบอกจะไม่ค่อยเชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตาม หลังจากนั้นคุณตาก็ได้แสดงวิธีการบริหารปอดด้วยการเป่าลูกโป่ง คุณตาเป่าได้ 2 ลูก สังเกตว่าข้าง ๆ คุณตาจะมีลูกโป่งที่คุณตาเป่าวางไว้จำนวนมาก และที่ยังไม่ได้เป่าก็มากเช่นกัน จากนั้นกายภาพก็แนะนำเรื่องการบริหาร โดยการชกลูกโป่งที่เป่าไว้ คุณตาชกใหญ่ บอกว่าเคยเป็นนักมวยเดิม ชกอยู่นาน จนดิฉันและทีมเห็นว่าคุณตาเริ่มเหนื่อยแล้วจึงให้หยุด ลูกเขยบอกว่าทุก ๆ เดือนคุณตาจะชอบซื้อหวย และลอตเตอรี่ (ฝากลูกซื้อ) และจะมีทีมซื้อหวยมาเป็นประจำ คุณตาบอกว่าถ้าถูกลอตเตอรี่จะเอาไปรักษาตัวให้หายเป็นปกติ ส่วนเรื่องปัญหาการลุกเดินของคุณตา ลูกได้ทำราว 2 ข้าง ให้เข้าไปถึงหน้าห้องน้ำ ให้คุณตาลุกเดินไปอาบน้ำ และเข้าห้องน้ำได้เอง โดยไม่ต้องมีคนช่วยและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนการเดินโดยใช้ Walker เดินออกไปนอกบ้าน คุณตาปฏิเสธเพราะเคยหกล้มครั้งหนึ่ง จากนั้นดิฉันและทีมเยี่ยมก็แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอีกครั้งก่อนกลับ
       ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 ของการเยี่ยมวันนี้ คือ ยายปิว Case ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่ดูผอมเพลีย พลิกตัวลำบาก นั่งไม่ได้ ตัวคุณยายและลูก ๆ ทราบเกี่ยวกับโรคและอาการของคุณยายดี ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ญาติบอกว่าคุณยายเริ่มกินได้น้อย กินแต่อาหารประเภทน้ำ ๆ เห็นนั่นเห็นนี่ผิดจากความเป็นจริง ยายปิวมีปัสสาวะเล็ด ญาติจึงใส่ผ้าอ้อมไว้ให้ ส่วนปัญหาเรื่องท้องอืดไม่มี ส่วนปัญหาเรื่องปวด ก็ได้ยา Tramol จัดให้ทานไม่ได้ขอยาเพิ่ม ผู้ป่วยก็อยู่ได้ หลังจากพูดคุยกับคุณยายได้สักครู่คุณยายก็หลับ ดิฉันและทีมเยี่ยมบ้าน จึงออกมาคุยนอกห้องคุณยาย พี่แน่งได้ให้แผ่นพับเกี่ยวกับอาการ และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์แก่ญาติไว้ เวลามีปัญหาให้โทรไปปรึกษาได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งแนะนำให้ญาติยืมแผ่น CD ธรรมะได้ที่หอผู้ป่วยใน 1 เพื่อนำมาเปิดให้คุณยายฟัง พี่แน่งได้ถามญาติและลูกผู้ป่วยว่าตัวคุณยายอยากทำอะไรหรืออยากได้อะไรไหม ญาติและลูก ๆ บอกว่า ก่อนหน้านี้คุณยายเป็นคนชอบทำบุญก็ได้พาคุณยายไปใส่บาตรที่หน้าบ้านแล้ว (ตอนที่คุณยายยังมีแรงดีอยู่) พาไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัด และผู้ป่วยอยากไปไหว้พระธาตุ ก็พาคุณยายไปไหว้แล้ว อย่างอื่นก็ไม่มีอะไร ก่อนกลับก็ย้ำให้ลูกและญาติไปเอาแผ่น CD ธรรมะที่ตึกหอผู้ป่วยใน 1 เพื่อมาเปิดให้คุณยายฟังบ้างก่อนเดินทางกลับโรงพยาบาลเวลา 16.00 น.
       วันนี้ดิฉันรู้สึกว่าได้ค้นพบบางสิ่งจากการออกเยี่ยมบ้านกับทีมเยี่ยมบ้านหน้าที่ของเรานั้นไม่ได้มีเพียงการดูแลแล้วผ่านเลยไปในหอผู้ป่วย การติดตามเยี่ยมได้เห็นถึงรอยยิ้มปัญหาของผู้ป่วยในแต่ละด้านแต่ละโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้ประสบกับความทุกข์ที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยได้มีแรงสู้กับชีวิตต่อไป อย่างมีความสุขไม่ทนทุกข์ทรมานมาก

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

เยี่ยมบ้าน.....ครั้งแรก.......

       วันที่ 4 ตุลาคม 2554 เวลา 13.30 . ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมบ้านกับพี่แน่ง พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งเป็นการลงเยี่ยมบ้านครั้งแรกของการทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โดยวันนี้พี่แน่งอธิบายว่า จะลงเยี่ยมบ้าน 2 ราย โดยรายแรก คือ ผู้ป่วย COPD ซึ่งปัญหาที่ต้องลงไปประเมินที่บ้านคือ การใช้พ่นยาไม่ถูกต้อง เมื่อเดินทางไปถึงบ้านผู้ป่วยแล้ว มองดูสภาพรอบ ๆ บ้าน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ใต้ถุนบ้านมีของต่าง ๆ วางอยู่ บันไดบ้านเริ่มชำรุด บริเวณบนบ้านกว้างขวาง ห้องนอนคุณตาสำรวยซึ่งเป็นผู้ป่วยนั้นมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ของในห้องนอนวางไม่ค่อยเรียบร้อย ในขณะที่มองรอบ ๆ บ้านอยู่ คุณตาสำรวยก็เดินออกมาจากบ้าน พี่แน่งได้กล่าวทักทายคุณตาสำรวย แล้วพี่แน่งก็เริ่มสนทนา เกี่ยวกับการพ่นยาของคุณตา ซึ่งคุณตาสำรวยบอกว่าตนเองพ่นยาถูกต้องตามที่หมอสั่ง ก็เลยให้คุณตาพ่นยาให้ดู คุณตาพ่นได้ถูกต้อง แต่ดูกล่องยาพ่นแล้ว หมดทุกกล่องแล้วก็หมดก่อนวันที่หมอนัด ซึ่งน่าจะหมายความว่าคุณตาสำรวย พ่นยาบ่อยเกินไปหรือพ่นยาผิด เช่น Seretide หมอสั่งให้พ่น เช้า – เย็น แต่คุณตานำไปพ่นเวลาที่รู้สึกเหนื่อย จึงแนะนำการพ่นยาแต่ละชนิดที่ถูกวิธีให้คุณตาเข้าใจใหม่ แล้วก็ถามเรื่องครอบครัว โดยครอบครัวของคุณตาสำรวยอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ คุณตา ลูกชายและลูกสะใภ้ อาศัยอยู่บ้านก็มีความสุขดี แต่พอพี่แน่งถามเรื่องภรรยา คุณตาก็มีสีหน้าเศร้า น้ำตาคลอ บอกว่าน้อยใจที่ภรรยาไม่มาเยี่ยม พี่แน่งจึงพูดให้กำลังใจและเปลี่ยนเรื่องคุย หลังจากนั้นคุณตาก็มีสีหน้าแจ่มใสขึ้น จึงดูแลตรวจร่างกายและวัดความดันโลหิต คุณตาดูเหนื่อยเล็กน้อย คุณตาบอกว่า “เวลาทำกิจกรรมแล้วจะเหนื่อยง่าย” ต้องนั่งพักเป็นประจำ พี่แน่งจึงแนะนำให้คุณตาทำกิจกรรมเบา ๆ เพราะหากทำกิจกรรมแล้วเหนื่อยให้นั่งพักผ่อนก่อนแล้วค่อยทำกิจกรรมต่อ และแนะนำให้เดินขึ้นลงบันไดอย่างระมัดระวังเนื่องจากบันไดเริ่มชำรุด หลังจากนั้นก็ได้ลาคุณตากลับ
         ขณะเดินทางกลับได้แวะบ้านของภรรยาคุณตาสำรวยเพื่อให้ภรรยาไปรับยาพ่นที่โรงพยาบาลให้คุณตา และพี่แน่งก็ได้อธิบายให้ภรรยาทราบว่าคุณตาเหงาอยากให้ไปเยี่ยมบ้าง ซึ่งคุณยายก็รับปากว่าจะไปเยี่ยมดูแลให้บ่อยขึ้น หลังจากนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมคุณลุงทันใจ อรรคสูรย์ ผู้ป่วย COPD , HT ปัญหาที่ต้องไปเยี่ยมคือ กินยาไม่ถูกต้อง เมื่อเดินทางไปถึงบ้านรอบ ๆ บ้าน บริเวณบ้านสะอาด พอเข้าไปในบ้านเจอคุณลุงทันใจ และภรรยา ดูแจ่มใส พี่แน่งทักทาย และพูดคุยถึงกิจกรรมที่คุณลุงทำในแต่ละวัน โดยคุณลุงชอบขับมอเตอร์ไซด์ไปตกปลา และทำกิจกรรมในบ้านเป็นประจำไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ทำให้คุณลุง รู้สึกเหนื่อยง่าย พี่แน่งจึงแนะนำให้คุณลุงทำกิจกรรมเบา ๆ และแนะนำไม่ให้ออกไปตกปลาคนเดียวและงดการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก ถ้ารู้สึกเหนื่อยให้นั่งพักหลังจากนั้นจึงถามเรื่องการพ่นยาและการกินยา การพ่นยานั้นคุณลุงสามารถบอกได้ว่า Seretide พ่นวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น และยา Ventolin นั้นให้พ่นเวลาหอบ พอถามเรื่องการกินยา สามารถอธิบายได้ว่ากินยาเวลาใด หลังจากนั้นจึงประเมินร่างกาย วัดความดันโลหิต คุณลุงดูไม่มีอาการหอบเหนื่อย หลังจากนั้นจึงลาคุณลุงกลับโรงพยาบาล คุณลุงและภรรยาก็กล่าวขอบคุณที่มาเยี่ยม ขณะที่เดินทางกลับโรงพยาบาล พี่แน่งก็เล่าให้ฟังว่า ครั้งก่อนที่มาเยี่ยมคุณลุงทันใจ ความดันโลหิตสูงมาก พี่แน่งจึงสอบถามเรื่องการกินยา ความดันโลหิตว่ากินประจำทุกวันไหม ซึ่งคุณลุงทันใจไม่ได้กินยา เป็นประจำ พี่แน่งจึงแนะนำว่าให้ทานยาเป็นประจำทุกวันตามที่หมอสั่ง พอมาเยี่ยมครั้งนี้ถามเรื่องการกินยาลุงก็บอกว่าทานยาเป็นประจำทุกวันตามที่หมอสั่ง และประเมินจากความดันโลหิต พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติ
         เมื่อเดินทางกลับมาถึงโรงพยาบาลพี่แน่งก็ได้สอนเกี่ยวกับลงข้อมูลการเยี่ยมบ้านใน Computer ทำให้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการลงข้อมูล และได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการเยี่ยมบ้าน โดยพี่แน่งพยายามแก้ไขปัญหานั้น ๆ ให้ลดน้อยลง และสังเกตเห็นว่า เวลาที่คุยกับ Case เยี่ยมบ้านพี่แน่งคุยเรื่องทั่วไป ไม่เจาะจงถึงปัญหาเนื่องจากผู้ที่ได้รับการเยี่ยมอาจไม่พูดความจริง ผู้มาเยี่ยมต้องสร้างความคุ้นเคยโดยการถามเรื่องความเป็นอยู่ คนที่ดูแลแล้วจึงถามเรื่องการพ่นยา การกินยา ก็จะทำให้ทราบถึงปัญหาและสิ่งที่ผู้ป่วยมีความความวิตกกังวล เพื่อจะนำปัญหานั้นมาร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกับญาติ และติดตามการเยี่ยมบ้านในครั้งต่อไป