วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

น้องใหม่...วัยใสใส...2


      ความรู้สึกนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานก็เปลี่ยนแปลงจากวันแรกมาก  เพราะได้รู้จักคุ้นเคยกับพี่ ๆ มากขึ้น  พี่ ๆ แต่ละคน  “น่ารัก”  เอาใจใส่ ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี  ซึ่งความรู้สึกในตอนนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก  เมื่อเทียบกับการเป็นนักศึกษาพยาบาล  เหมือนกันมากจนแยกไม่ออก  ต่างกันก็แค่ชุดเท่านั้น   แต่ที่น่ากดดันกว่านั้น  คือ  เรียนจบมาแล้ว  พี่ ๆ ถามทักษะความรู้เดิมที่เคยเรียนมา  แล้วตอบไม่ได้  ก็ต้องไปค้นคว้าหามาตอบ  เพื่อเป็นการทบทวนความรู้  ทักษะต่าง ๆที่ต้องนำมาใช้ในการดูแลชีวิตของผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบ หน้าที่อันยิ่งใหญ่  ของการเป็นพยาบาลที่ดี ตอนนี้ก็เหมือนก้าวแรกของการทำงานในวิชาชีพพยาบาล  อะไร ๆ ก็ยังไม่ค่อยลงตัว  ความรู้สึกกดดัน  เกรงอกเกรงใจยังมีมากเหลือเกินบางสถานการณ์ จนทำให้วางตัวไม่ถูก  ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อน-หลัง  อาทิหลังรับเวรเสร็จ จะต้องทำอะไรอันดับแรก  ไม่รู้จะยืนตรงไหน  ต้องพยายามวิ่งตามเข้าหาพี่ เพื่อที่จะเรียนรู้งาน  ยังไม่ค่อยเข้าใจ  บทบาทหน้าที่ของ  In charge,  leader,  Member  เท่าที่ควร  คือตอนแรกเข้าใจว่า  leader  ต้องเป็นคนมอบหมายงานให้  Member  ว่ามี  treatment   อะไรบ้างที่จะต้องทำ  ซึ่ง  leader ที่จะรับมอบหมายงานจาก  In charge  อีกที  แต่พอทำงานได้หลายวันเข้า  ก็เริ่มเข้าใจ  เรียนรู้ว่า  Member  ต้องไปดู  Chart  ผู้ป่วย  Order  แพทย์เองเพื่อจะทำ  treatment ต่าง ๆ ซึ่งบริบทของโรงพยาบาลจังหวัดกับโรงพยาบาลประจำอำเภอแตกต่างกันมาก ที่นี้เหมือนทุกคนจะช่วยกันไปหมด  ไม่ได้ชัดเจนตายตัว  ว่าหน้าที่คนโน้น  คนนี้  ยกเว้น  In charge  ที่บริบทไม่แตกต่างกันมาก  ซึ่งตอนนี้  หน้าที่ของพยาบาลน้องใหม่ต้องพยายามปรับตัว  เรียนรู้งานให้ได้มากที่สุด  เพื่อเป็นการพิสูจน์  ตนเองว่ามีการพัฒนาเรียนรู้งานได้มากยิ่งขึ้น
       สำหรับสิ่งที่อยากให้พี่ ๆ สอน แนะนำเพิ่มเติม “เทคนิคการใส่ สาย Foley’s cath”  เพราะจากที่เรียนมาเคยใช้ถุงมือ  คู่  พอมาใช้คู่เดียวเลยทำให้ไม่ Sterile แต่สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่ตึก IPD 1 ยังไม่มีอะไรแนะนำเพิ่มเติม  และท้ายที่สุดสำหรับตัวดิฉันเองการเรียนจบมาเป็นพยาบาลน้องใหม่  ก็ยังจับจุดยืนไม่ได้ว่าตนเองอยู่ฝ่ายไหน    แผนกอะไร  ก็เลยคิดว่าลองทำงานไปเรื่อย ๆ ก่อน  แต่ที่แน่ ๆ ไม่ชอบห้องคลอดเป็นอย่างมาก  เลยคิดว่าอยู่แผนกไหนก่อนก็ได้สำหรับน้องใหม่  เพราะเรายังไม่สามารถที่จะเลือกได้  คิดอยู่อย่างเดียวตอนนี้  คือ  ต้องเรียนรู้งานให้ได้มากที่สุด  ผ่านพ้นช่วงทดลองงาน  สอบผ่านสภาที่เหลืออีก  2  วิชาทุกอย่างก็จะดีขึ้น  ความเครียดและความกดดันก็คงลดน้อยลง  แต่ก็บอกตัวเองไว้เสมอว่า “ความอดทน  ความพยายาม  การทำงานด้วยใจรักและมุ่งมั่น”  ก็จะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้ด้วยดี  และทำงานอย่างมีความสุขในวิชาชีพการพยาบาล


น้องใหม่.....วัยใสใส...


       ความรู้สึกตอนแรกที่ได้รู้ว่าจะได้ทำงานที่  Ward 1 รู้สึกหนักใจมาก  เพราะว่า ทราบมาจากหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล  (พี่เปรมว่าเป็นจุดบริการที่คนไข้หนัก  ซึ่งเป็นพยาบาลที่จบมาใหม่ ๆ ประสบการณ์ก็ไม่มี  กลัวทำไม่ได้  และอีกอย่างโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ค่อยชอบทำงานบน Ward สักเท่าไหร่  เพราะว่าไม่ค่อยชอบทำอะไรที่ทำซ้ำ ๆ     เดิม ๆ  ทีแรกก่อนที่จะมาอยู่โรงพยาบาลนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าชอบ Ward ไหน    อยากทำงานที่ไหน  ห้องคลอด คงจะเลือกเป็น  Ward  สุดท้าย  หรือไม่เลือกเลย  เพราะว่าเป็น Ward ที่ไม่ชอบมาก ๆ ในใจก็คิดว่าได้อยู่ที่  Ward  อยู่ก็อยู่  ก็ดีกว่าอยู่ห้องคลอดก็แล้วกัน
        ถ้าหากเลือกได้  คงจะเลือกทำงานที่  OR เพราะอยากเป็น Scrub Nurse ที่เก่ง มีความสามารถและอีกอย่างก็คิดว่า ทำงานที่ OR ไม่ต้องพูดกับผู้ป่วยเยอะ ขึ้น – ลง เวร ตรงเวลา
           พอมาทำงานที่  Ware  วันแรกก็รู้สึกดีนะ พี่ ๆทุกคนอบอุ่น  ใจดี  ให้การต้อนรับดีไม่ได้เลวร้ายอย่างคิดไว้  ก็เลยรู้สึกอุ่นใจในการทำงานขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง  เพราะทีแรกคิดว่าถ้าทำอะไรไม่เป็นพี่ ๆ ต้องด่าแน่ ๆ เลย  และถ้าพี่ถาม/ซัก  ตอบไม่ได้  ต้องรู้สึกอายแน่ ๆ เลย  แต่พอมาอยู่ได้ประมาณ  อาทิตย์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด  พี่ ๆ ทุกคนใจดี  น่ารัก  สอนดี  ก็คิดว่าถ้าทำงานที่  Ward นี้ก็น่าจะรู้สึก  Work  และ Happy  และอีกใจหนึ่งก็คิดอยู่เหมือนกันว่า  ถ้าทำงานที่  IPD 1  ซึ่งเป็น Ward  ผู้ป่วยหนัก  ก็จะเป็นพยาบาลที่เก่ง  มีความสามารถรอบด้าน  และรู้ทุกโรคอย่างพี่ ๆ
          ความรู้สึก ณ. ขณะนี้รู้สึกคับข้องใจและขัดแย้งในใจมาก ๆ เลย  ว่าทำไมต้องเขียน  Nurse  note  ใส่กระดาษ  เพราะรู้สึกว่าตอนเป็นนักศึกษาก็เป็นแบบนี้  จบมาเป็นพยาบาลแล้ว  ยังต้องทำอยู่อีกเหรอ  แต่พอได้มาฟังพี่ ๆ หลาย ๆ คน เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนตอนที่จบมา  พี่ก็ได้ทำแบบนี้แหละ  ก็เลยรู้สึกว่าโอเคนะรับได้  และเข้าใจว่าคงจะเป็นวิธีสอนงาน  ให้น้องใหม่ทุก ๆ รุ่น  ให้เป็นพยาบาลที่เก่ง    สำหรับตัวหนิงเองนะค่ะ  ไม่ว่างานจะหนักหนาแค่ไหน  แต่ถ้าอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ   อบอุ่นใจ  มีความสุข  ก็พร้อมที่จะสู้กับงานนั้นอย่างเต็มที่ค่ะ  และพยายามหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอค่ะ

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุณค่า...งานผู้ช่วยเหลือคนไข้ Ward 1


        ชุดสีฟ้าครีม  คือ  ชุดประจำของพวกเรา  ผู้ช่วยเหลือคนไข้  รพร.ด่านซ้าย  ซึ่งโรงพยาบาลอื่นใส่ชุดสีเหลือง เวลาโรงพยาบาลอื่นอื่นมาดูงานชอบบอกเราเสมอว่าชุดของผู้ช่วยเหลือคนไข้  รพร.ด่านซ้าย   สวยดี  พวกเราเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ในหอผู้ป่วยใน  1  มีกันทั้งหมด  4  คน  ถ้าพูดถึงการทำงานของพวกเราในแต่ละวันที่ขึ้นเวร  ก็จะทำงานตั้งแต่ขึ้นเวรจนลงเวรแทบจะไม่มีเวลาได้พักเลย  เช่น  ดูแลการทำความสะอาดเตียงของคนไข้ที่กลับบ้าน  ดูแลความสะอาดเรียบร้อยของตึก  การแนะนำปฏิบัติตัวขณะนอนพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยใน  1 เช่น  การใช้เตียง  การทิ้งผ้า  ทิ้งขยะ  การใช้ห้องน้ำ  การเบิกเครื่องมืออุปกรณ์ในหน่วยงาน  ถ้ามองผิวเผินเหมือนพวกเราไม่มีงานแต่ถ้าได้สัมผัสจะรู้ว่ามีงานจุกจิกมากมาย นอกจากงานประจำที่ทำแต่ละวันแล้ว  ยังได้รับให้ทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับผู้ป่วยและญาติๆรายงานตัวชี้วัดรายบุคคล  เช่น  กิจกรรมยืดเหยียด  กิจกรรมแปรงฟันก่อนนอน  กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ  กิจกรรมทิ้งผ้า/ทิ้งขยะให้ถูกประเภทที่ต้องทำรายงานส่งหัวหน้าทุกสิ้นเดือน  นอกจากนั้นยังได้รับความไว้วางใจให้ช่วยสอนงานให้น้องใหม่ซึ่งเป็นน้องพยาบาลและน้องผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่จะเข้ามาทำงานในหอผู้ป่วยใน  1  ด้วย  ซึ่งน้องใหม่เข้ามาในตึกว่าจะทำอะไรให้กับผู้ป่วยบ้าง  เช่น  การวัดความดันโลหิต  วัดไข้  จับชีพจร  การนับหายใจ  ถ้าวัดแล้วอาการของผู้ป่วยผิดปกติต้องแจ้งพยาบาลทุกครั้งและการแนะนำสถานที่ให้กับผู้ป่วยและญาติในการมารักษาตัวในโรงพยาบาล  การลงบันทึก  v/s  ในฟอร์มปรอทว่าลงอะไรบ้าง  อุณหภูมิ ความดันโลหิต การหายใจใช้ปากกาสีน้ำเงิน ส่วนปากกาสีแดงลงชีพจร  การเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินต้องเตรียมอะไรบ้าง เช่น  การติดเกย์ออกซิเจน  ติดเครื่องดูดเสมหะ  และการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการทำหัตถการต่างๆ  การเข้าช่วยพยาบาลในการเข้าทำหัตถการต่างๆ  สิ่งที่ได้สอนน้องมาถ้าหากไม่เข้าใจหรือมีปัญหาอะไรระหว่างการทำงานก็สามารถปรึกษาพยาบาลระหว่างเวรได้  นอกจากนี้ในตึกของเรายังมีการสอนผู้ช่วยเหลือคนไข้ในเรื่องการใช้ออกซิเจน  การใช้เครื่องดูดเสมหะ  การดูแลสาย  NG  การเตรียมหัตถการ  การบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์  การเจาะและอ่าน  DTX  และ  HCT  พวกเราผู้ช่วยเหลือคนไข้ในหอผู้ป่วยใน  ได้รับการฝึกฝนทบทวนอยู่ตลอดเวลา  เพื่อให้พวกเรามีความพร้อมที่จะได้ดูแลผู้ป่วยให้บรรเทาความเจ็บป่วยและได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข

พี่สอนน้อง Ward 1


    พี่ขวัญจะแนะนำการดูแลและวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยระยะสุดท้าย  สำหรับแนวทางการดูและผู้ป่วยระยะสุดท้ายหอผู้ป่วยใน  โรงพยาบาลด่านซ้าย  ตั้งแต่ปี 2554  แบ่งเป็น  ประเภทคือ  ประเภทแรกผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง  และประเภทที่  เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้ตาย          การที่จะเข้าสู่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่าผู้ป่วยรายนี้  เข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตหรือยัง  และก่อนที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น  เจ้าหน้าที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อน  ในชีวิตของมนุษย์  และสรรพสัตว์ในโลกนี้          ร่างกายและจิตใจของมนุษย์  ตามหลักพุทธศาสนา  แท้ที่จริงคือรูปกับนาม  รูปคือการประชุมรวมกันของธาตุทั้ง  4  คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  หากเกิดความไม่สมดุลของธาตุใดธาตุหนึ่ง  จะทำให้เกิดความเจ็บป่วย  จนถึงเสียชีวิตได้
      1.  ธาตุดิน  ในร่างกายคนเรามี  20  อย่าง  คือ  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไส้อ่อน  ไส้ใหญ่  อาหารใหม่  อาหารเก่า  มันสมอง
      2.  ธาตุน้ำ  คือของเหลวที่อยู่ในร่างกาย  เช่น  ดี  เสลด  หนอง  เลือด  เหงื่อ  มัน
      3.  ธาตุไฟ  คือ  อุณหภูมิในร่างกาย  รวมถึงไฟธาตุ (อุณหภูมิที่ย่อยอาหารได้)
      4.  ธาตุลม  คือ  ลมที่อยู่ในร่างกาย  ถ้าพัดขึ้นข้างบน เช่น การหาว  การเรอ  ถ้าพัดลงข้างล่าง  เช่น การผายลม  ลมในท้องทำให้ปวดเส้นท้อง  ลมที่พัดทั่วร่างกาย  ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้  และลมหายใจเข้า-ออก
    ธาตุทั้งหลายมีลักษณะของตนโดยเฉพาะ  ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนเรา  เขา  ฉะนั้นจึงพิจารณาลักษณะที่แท้จริงโดยความเป็นธาตุไว้  เพื่อจะได้ไม่ทุกข์กังวลกับการเสื่อมนาม  คือจิตใจเป็นธรรมชาติ  รับรู้สิ่งต่าง ๆ  คือรู้อารมณ์ทำหน้าที่เห็น  ได้ฟัง  รู้กลิ่น  รู้รส  รู้สึกต้องการสัมผัส   ถูกต้องทางกาย และความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ
   จิตมีอำนาจสั่งสมกรรม  กรรมทั้งหลายที่ทำลงไปแล้วถูกตรึงไว้ด้วยอำนาจของจิตเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายใดเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว  พยาบาลที่ดูแลจะต้องประเมินและแยกประเภทออกเป็นแบบระคับประคอง  และแบบผู้ป่วยใกล้ตายโดยใช้  PPS Scale ถ้าคะแนนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 % ถือว่าเป็นคนไข้ที่ใกล้ตาย 
   ในทางกาย ก็จะดูแลให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายตามแผนการพยาบาล  และลดความทุกข์ทรมานตามแผนการรักษา  ของแพทย์ตามอาการ  ติดตามการดำเนินโรคของผู้ป่วย  การดูแลให้อยู่ในห้องแยกพิเศษเป็นสัดส่วน  จะต้องอธิบายวิธีการใช้ห้องให้ผู้ป่วยและญาติรับทราบด้วย  เช่น  การเปิด VCD ธรรมะการอ่านหนังสือสวดมนต์การเก็บหนังสือในชั้นวาง  ถ้าห้องไม่ว่างให้ดูแลผู้ป่วยในห้องรวม  โดยผู้ป่วยต้องได้รับความสุขสบายตามความเหมาะสม
  ในทางด้านจิตใจ  การดูแลผู้ป่วยตามแนวทางวิถีพุทธก็จะแบ่งเป็นระดับการดูแลโดยคำนึงถึง สภาวะจิตใจ  และศรัทธาที่ผู้ป่วยมีต่อพระพุทธศาสนา โดยแบ่งเป็น  4 ระดับ คือ
     ระดับ  ผู้ป่วยที่มีจิตในเข้มแข็ง  มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูง  เข้าใจธรรมะขั้นสูง มีการเจริญภาวะนาเป็นประจำ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะได้รับการดูแลตามสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ  เช่น  การฟังธรรมะ  สวดมนต์ไหว้พระ  ทำบุญถวายทาน  การเจริญสติตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ  การปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ  พิธีขออโหสิกรรม
    ระดับ  B ผู้ป่วยที่มีจิตใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาในระดับกลาง ๆ คือผู้ที่มีศรัทธาชอบทำบุญรักษาศีล แต่ไม่ค่อยเจริญภาวนา คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ เช่น การฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระถวายทาน ปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ พิธีขออโหสิกรรม
    ระดับ  ผู้ป่วยที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาน้อย  มีความเชื่อ ศรัทธา แต่ไม่ค่อยได้ทำบุญตักบาตร ทำบุญตามที่เคยทำตาม ๆ กันมา  คนกลุ่มนี้จะไดรับการดูแลในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ  เช่น  การทำบุญตักบาตร  ถวายทาน  สวดมนต์  ไหว้พระ  เปิดเทปธรรมะ  ปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ  ทำพิธีขออโหสิกรรม
      ระดับ  ผู้ป่วยที่มีศรัทธาในพุทธศรัทธาน้อยมาก  ไม่ค่อยได้ทำบุญทำทาน  ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการทำงานทำมาหากินเลี้ยงชีพ  คนกลุ่มนี้จะดูแลโดยได้อยู่ท่ามกลางบุคคลที่รัก  พูดถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิต  ปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ  ให้ได้รับสุข ทางรูป  รส  กลิ่น  เสียง  ทำพิธีขออโหสิกรรม
  การให้การพยาบาลทุกครั้งจะต้องใช้การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย  ร่วมกับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยด้วย  และให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้ป่วยและญาติให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ว่าจะทำอย่างไรกับช่วงชีวิตสุดท้ายที่เหลืออยู่
    -  ผู้ป่วยประคับประคองจะได้ทำในสิ่งที่ค้างคาใจ ทำพินัยกรรมชีวิตของตัวเอง
    - ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ถ้ายังมีสติอยู่ สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะเสียชีวิตที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล และถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้ญาติที่ใกล้ชิดตัดสินใจ พยาบาลเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ
    -  ผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล การดูแลด้านร่างกาย เช่น อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย 
การแต่งตัว  สวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อย
   -  การแนะนำญาติเรื่องใบมรณบัตร  แนะนำญาติเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ ทางกฎหมาย  และระเบียบการติดต่อรับศพก่อนออกจากโรงพยาบาล
   - การดูแลด้านจิตใจญาติและครอบครัวหลังการเสียชีวิต  ด้วยความเอาใจใส่และเข้าใจ  
   ผู้ป่วยที่ญาติขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน  พยาบาลจะต้องให้ข้อมูล  คำแนะนำการดูแลผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต  การให้ความมั่นใจในการผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญ  ให้เบอร์โทรศัพท์หอผู้ป่วยใน  1 กับญาติไว้เพื่อประสานและโทรฯมาปรึกษาเกี่ยวกับอาการคนไข้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  และให้ข้อมูลการดูแลผู้ป่วยหลังเสียชีวิตและขั้นตอนทางกฏหมายเมื่อผู้ป่วย   เสียชีวิตที่บ้านด้วย
  การดูแลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นข้อมูลที่น้องใหม่และพยาบาลทุกคนในหอผู้ป่วยใน  ต้องรับทราบและปฏิบัติ  ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด  และตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
    สิ่งที่น้อง ๆ ทำได้ดีคือ  การประเมินคนไข้และเมื่อรับเข้ามาในตึก  ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เข้ามา ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงน้อง ๆ ในเวรก็มีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นระยะ  ถึงแม้งานในตึกจะยุ่งยังไงก็ตาม 
   ในเวลาที่กล่าวขออโหสิกรรมผู้ป่วยในน้อง ๆ บางคนที่ไม่ค่อยได้ทำ  แต่เมื่อได้รับ มอบหมาย จากพี่หัวหน้าเวรก็จะมีการซ้อมอ่านคำอโหสิกรรม  ก่อนพาญาติขอขมาผู้ป่วย  เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ก็สามารถทำได้ด้วยความมั่นใจ..
  คุณป้าคนหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเข้ามารับการรักษาแบบประคับประคองที่เรา  คุณป้าเป็นคนรักสวยรักงามมากและสภาพจิตใจเข้มแข็ง  เข้ามาตอนแรกคุณป้ายังพูดคุยรู้เรื่องบอกกับเราว่า  “ช่วยแต่งหน้าให้ป้าด้วยเมื่อถึงวันที่ป้าต้องไป ป้าอยากไปแบบสวยๆ” และแล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่คุณป้าจากเราไปไม่มีวันกลับ น้องปิกนิกพยาบาลน้องใหม่ของเราได้ช่วยแต่งหน้าให้คุณป้า น้องได้พยายามทำและแต่งหน้าให้คุณป้าสวยที่สุด ใบหน้าของคุณป้าดูสวยเหมือนคนที่กำลังนอนหลับสนิท  ญาติๆของคุณป้าประทับใจมาก ขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง   “เป็นครั้งแรกที่หนูแต่งหน้าศพ” น้องปิกนิกบอก...
   และความรู้สึกที่เหมือน ๆ กันของพวกเราเกือบทุกคนก็คือ  เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตในเวรดึก.. มันออกจะดูวังเวงสักหน่อย  เพราะเราขึ้นเวรกันแค่ 3 คน คือพยาบาล  คน  ผู้ช่วยเหลือคนไข้  คน นอกนั้น  ญาติและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนอนหลับกันหมด..
  ในเวรนั้นพวกเราก็จะรักกันมากเป็นพิเศษ...  ไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน ...เกาะกลุ่มกันไว้ ... เปิดไฟให้สว่างทั่วตึก  เวลาเข้าไปดูว่า Formalin ที่ drip ไว้หมดหรือยัง  เราจะต้องมีเพื่อนเดินไปด้วยกันเสมอ  มันก็มีบ้างแต่ไม่ทุก Case หรอกนะค่ะ  น้องใหม่ ward 1 สู้ ๆ ค่ะ

พี่สอนน้อง Ward 1



    จากการทำงานตลอดระยะเวลา  ปีที่ผ่านมา  ดิฉันได้รับการสอนน้องถึง  รุ่น  ซึ่งเรื่องที่ฉันได้สอนได้แก่  เรื่อง  โรคหัวใจและหลอดเลือด  แยกเป็นผู้ป่วย Stroke และ ผู้ป่วย CHF ,  การแยกประเภทผู้ป่วยการลงบันทึกกิจกรรมการพยาบาล  ซึ่งในปีแรก ๆ ดิฉันก็ไม่ได้เก่งและมีความชำนาญมากนัก  เป็นแค่ผู้ช่วยคุณพรพิมล  ธนะบุตร ที่เป็นรุ่นพี่ของดิฉัน  และเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว  แต่หลังจากที่คุณพรพิมลย้ายไป ดิฉันก็ได้รับหน้าที่อย่างเต็มตัว  ดิฉันทำงานดังกล่าว  ปี  โดยไม่มีผู้ช่วย  ลองผิดลองถูกและปรึกษากับหัวหน้าและทีมการพยาบาลในหอผู้ป่วยใน  1    ซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยและกระตุ้นให้ดิฉันทำงานนี้ได้  และหลังจากนั้นปีที่  ฉันก็ได้น้องใหม่มาช่วย  คน  คือ  น้องศิริพร  ชรินทร์  ฉันดีใจมากที่ตอนนี้ฉันมีผู้ช่วยแล้ว  โดยไม่ต้องทำงานโดดเดี่ยวอีกต่อไป  ซึ่งน้องเป็นคนขยัน  มีความมุ่งมั่นในการทำงาน  รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย  แบ่งเบาภาระงานของฉันได้มาก  ฉันรู้สึกอบอุ่นใจ  ถ้าหากฉันหยุดงานหรือลาพักผ่อน  อย่างน้อยน้องก็สามารถเป็นตัวแทนที่จะทำงานดูแลผู้ป่วยและดูแลการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม
         เรื่องแรกที่ฉันสอน  คือ  การทำ D/C Plan ผู้ป่วย Stroke เนื่องจากหอผู้ป่วยใน  1  ต้องรับผู้ป่วยหนัก,  ผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค,  ผู้ป่วยที่กลับมา หลังจาก Refer มาจากโรงพยาบาลเลย  ดังนั้นก็แน่อยู่แล้วที่ตึกของดิฉันจะต้องมีผู้ป่วย  Storke  มา Admit   ซึ่งต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างน้อย  4-5 วัน  จนจำหน่าย กลับบ้าน พยาบาลหอผู้ป่วยใน  1  ทุกคนรู้ว่าต้องประเมินการทำ  D/C Plan Storke ไว้ ให้ดิฉันเพื่อประเมินและวางแผนการจำหน่าย มีการลงข้อมูลบางส่วนให้  และส่วนที่พยาบาลไม่ชอบลงข้อมูลคือ  ด้านความสามารถตามดัชนีบาร์เธอ เอดีแอล (Barthel ADL  Indey)  และแบบประเมิน  NIHSS (The  National Institute of Health Stroke Scale (0-42) )    ซึ่งชื่อหัวข้อก็น่ากลัวแล้ว    แถมในใบประเมินทุกตัวก็เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด  ซึ่งคนที่ชอบประเมินให้ฉันคือ พญ.ทิพพาวดี  สืบนุการณ์  ส่วนน้องใหม่ที่สอนก็จะทำในช่วงแรก  แต่หลังจากนั้นก็ว่างเหมือนเดิม  จะทำบ้าง Barthel ADL Indey แต่ปีนี้ดิฉันได้ทำแบบประเมิน  NHISS  เป็นภาษาไทยแล้ว  ก็หวังว่าพยาบาลทุกคนจะทำแบบประเมินให้  และกรอกข้อมูลลงใน  D/C Plan  Stroke ให้ดิฉัน  อย่างน้อยน้องศิริพร  คนหนึ่งที่ต้องช่วยทำแน่ๆ
        ส่วนเรื่องที่สองคือ  D/C Plan CHF  อย่างน้อยหอผู้ป่วยใน ต้องมีผู้ป่วย Admit 2-3 คน / เดือน  เรื่องนี้ไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ง่าย  เป็นการประเมิน และค้นปัญหาของผู้ป่วย  ปัญหาส่วนมากของผู้ป่วยก็คือการกินอาหารที่มีรสเค็ม  และการเติมผงชูรสในอาหาร  ส่วนใหญ่ผู้ป่วย  และญาติก็จะทราบการดูแลตนเองแต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม  และส่วนที่ทุกคนจะไม่ลงข้อมูลอีกส่วนหนึ่งคือ  การให้ความรู้เรื่องยา  คงคิดว่าเป็นหน้าที่ของเภสัชกร  ที่จะต้องเป็นผู้ให้ความรู้แต่เภสัชกร จะเข้ามาดูผู้ป่วยในรายที่มีปัญหา หรือแพทย์ Consult เท่านั้น  ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเรา  อย่างน้อยก็ช่วยเขียนชื่อยาให้ดิฉันก็ยังดี  แต่ตอนนี้ดิฉันได้จัดหาเอกสารเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (จัดทำโดยคุณปัญญาภรณ์)    มาไว้ที่ตึกแล้ว  อย่างน้อยก็มีเจ้าหน้าที่นำไปให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย  และญาติได้  ในเอกสารจะมีชื่อยาข้อบ่งใช้อาการข้างเคียง, ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้บ่อย  และมีใช้ในโรงพยาบาลของเรา  ส่วนการแนะนำของดิฉันส่วนใหญ่จะแนะนำว่าเป็นยาอะไร  และยาดังกล่าว  จะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง  เช่น ยา Furosemide  เป็นยาขับปัสสาวะลดบวม   อาการข้างเคียง  คือ  ปัสสาวะบ่อย  ปวดศรีษะอ่อนเพลีย, ใจสั่น  ฯลฯ  ซึ่งผู้ป่วย  และญาติต้องทราบข้อมูลนี้เพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง
 
            ส่วนเรื่องสุดท้าย คือการสอนการแยกประเภทผู้ป่วย  และการลงบันทึกกิจกรรมการพยาบาล  การแยกประเภทผู้ป่วย  เราก็จะเน้นที่ผู้ป่วยหนัก  4a  คือผู้ป่วยหลังผ่าตัดผู้ป่วยที่ให้ยา  Dopamine  ,  ผู้ป่วยที่ต้อง Obs. N/S  และ V/S ทุก 1-2 ชั่วโมงผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะ Shock ทำให้เห็นภาระงานของเรา  รองลงมาก็ประเภท  3a  คือผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้   ผู้ป่วยที่  On O2 Cannula หรือ On Mask ตลอดเวลาผู้ป่วย On ICD,  ผู้ป่วยหลัง off  Dopamine ,  ผู้ป่วยที่มีภาวะ Hypo- Hyperglycemia บ่อย ๆ ผู้ป่วยที่ UGIH  ต้องให้เลือดและเจาะ Hct ทุก 6 ชั่วโมง ฯลฯ และผู้ป่วยประเภท  2 กับ 1 ก็จะน้อยมาก  เพราะถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการดูแลอะไรมาก  พร้อมที่จะ D/C  ได้ ส่วนผู้ป่วยประเภท  1 D  ของดิฉัน คือ  ผู้ป่วยที่ของลากลับบ้าน  หรือขอไป F/U  ที่โรงพยาบาลเลย  เพราะเราไม่ต้องดูแลผู้ป่วยเลย  ส่วนการลงบันทึกกิจกรรมการพยาบาลถือว่าเป็นเรื่องที่ง่าย  ขึ้นอยู่กับน้องใหม่ หรือเจ้าหน้าที่จะลงข้อมูลกันหรือไม่  ดิฉันจะให้น้องลงกิจกรรมตอนสอนน้องช่วงแรก ๆ จะมีปัญหาบ้างก็คือ  ไม่ลงกิจกรรมนั้นไว้ก่อน  ทำให้ Loss กิจกรรมบางอย่างที่ทำหลังจากลงบันทึกส่วนพี่เก่าที่เจอเป็นประจำ  คือ  ลืมลงบันทึกกิจกรรม  เวรใดเวรหนึ่ง  หรือลืมลงกิจกรรมบางอย่าง  ดิฉันก็จะตามหัวหน้าเวรนั้นมาลงให้  เพราะกิจกรรมการพยาบาลถือเป็นหน้าที่ Incharge ในเวรนั้น ๆ ที่จะต้องลงบันทึก  นอกจาก Incharge มอบหมายให้คนใดคนหนึ่งลง  ส่วนน้องใหม่ก็ต้องรอเป็น Incharge ก่อนค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พยาบาลวิชาชีพ


          เข้าทำงานที่หอผู้ป่วยใน  1  ต้นปี  2549  ประสบการณ์ทำงานจากการเรียนในชั้นเรียนก็เป็นเพียงพื้นฐานในการทำงานของวิชาชีพพยาบาลเท่านั้น  เพราะการทำงานจริงกับการเรียนและการฝึกงานมันแตกต่างกันมาก  เข้ามาทำงานช่วงแรกก็รู้สึกเครียดไม่รู้จะทำงานยังไง  ทำถูกหรือเปล่า  แต่ก็มีรุ่นพี่คอยแนะนำ  คอยบอกแนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ  บางอย่างก็สร้างพลิกแพลงได้ตามบริบทของโรงพยาบาลแต่ต้องอยู่ในความถูกต้องและตามมาตรฐานวิชาชีพพยาบาล  หลังจากนั้นทำงานได้  1-2  ปี  ก็มีรุ่นน้องและพี่ที่ย้ายมาทำงานที่หอผู้ป่วยใน  1 ของเรา    ให้ดิฉันคอยสอนงานเช่นกันเป็นรุ่นๆ  ไป  ก็รู้สึกเครียดเหมือนกัน  เพราะต้องเป็นคนถ่ายทอดความรู้สึกตอนนั้นที่ถ่ายทอด คือ  ไม่รู้ว่าเราถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ  ในการทำงานถูกต้องตามมาตรฐานที่วางไว้เสมอ  ก่อนจะทำอะไรกับคนไข้ไม่แน่ใจว่าทำงานนึกถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสำคัญ  และเอาใจคนไข้มาใส่ใจเรา
                งานที่ได้รับมอบหมายเป็นหลักช่วงแรก  คือ  งานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เป็นงานใหม่สำหรับดิฉันมากต้องอ่านหนังสือมาคอยถ่ายทอดและศึกษาข้อมูลต่างๆ  เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน  และรู้สึกว่าวัยวุฒิของตัวเองไม่เหมาะสมและมันเป็นเรื่องยากมากกับการที่เราจะทำให้ใครสักคนตายอย่างสงบ  เพราะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์หลายอย่างประกอบกัน  แต่ก็จำเป็นต้องทำและรับผิดชอบเพราะเป็นหน้าที่ทำและถ่ายทอดประมาณกลางปี  52  พี่ขวัญ  (กันตพัฒน์  อภิญญาฐิติพงษ์)  ได้ย้ายเข้ามาทำงานในหอผู้ป่วยใน  1  ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  คราวนี้แตกต่างกว่าทุกครั้ง  เป็นการถ่ายทอดสู่รุ่นพี่รู้สึกประทับใจ  เพราะว่าพี่ขวัญมีพื้นฐานด้านนี้อยู่แล้ว  เป็นคนธรรมะทำโมอยู่แล้ว  พี่เขาจะเข้าใจง่ายและรู้สึกว่าทำงานได้ดีกว่าเรา  และเหมาะสมกว่าทั้งคุณสมบัติ  องค์ความรู้  วัยวุฒิ  พี่ขวัญทำได้ดี  ซึ่งทำให้การถ่ายทอดงานครั้งนี้และได้ทำมาเรื่อยๆ  หัวหน้าได้มอบหมายงานนี้ให้  พี่ขวัญรับผิดชอบโดยตรงในปีงบ  55  ก็รู้สึกดีที่มีพี่ขวัญคอยรับผิดชอบงานตรงกับคน  คนตรงกับงาน  ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นไปด้วยดี  และมีการพัฒนาเป็นระยะๆ

พยาบาลวิชาชีพ


ประสบการณ์ของเราต้องเล่าต่อ  ดิฉันทำงานที่  IPD1  ประมาณ  2  ปี  ได้รับมอบหมายให้ทำงานเก็บตัวชี้วัด  เรื่องโรคที่ป้องกันได้  5  โรค  งานของดิฉันอาจจะดูง่ายและไม่ค่อยน่าสนใจ แต่จริงๆ  แล้วงานนี้ทำให้ดิฉันสนุกกับการทำงานทำให้ต้องอธิบายในโรคง่ายๆแต่ไม่ง่ายสำหรับคนป่วยใน  IPD1  ของเราซึ่งบางโรคชาวบ้านยังไม่รู้ถึงวิธีการดูแลตัวเองเลย  สิ่งง่ายๆ  เหล่านี้ดูมีค่าและมีความหมายสำหรับดิฉันและคนไข้หลายๆ  คน
ประสบการณ์ดีๆ  เหล่านี้  แน่นอนมันต้องเผยแพร่ซึ่งปีนี้ดิฉันได้เป็นรุ่นพี่แล้ว  น้องก้อนและน้องจ้อย  พยาบาลน้องใหม่ที่มาพร้อมกับสมองใหม่เอี่ยม  ขอรับสิ่งใหม่ๆ  กับการทำงานครั้งแรกของพวกเขา  ดิฉันต้องสอนรุ่นน้องทั้ง  2  คน  ให้รู้จักงานเรื่องการเก็บตัวชี้วัดที่ดิฉันรับผิดชอบ  น้องทั้ง  2   ต้องเรียนรู้การเก็บงานหลายๆ  เรื่องจากรุ่นพี่ทุกคนในตึกรวมทั้งของดิฉัน  น้องก้อนและน้องจ้อยตั้งใจฟังคำอธิบายวิธีการทำงานของดิฉันและตั้งใจที่จะลองสอนผู้ป่วย  ไม่น่าเชื่อเลยความตั้งใจสอนเรื่องง่ายๆ  ของดิฉันยังมีน้องทั้ง  2  คน  คอยให้ความสนใจ  ดิฉันภาคภูมิใจทุกครั้งที่เห็นน้องทั้ง  2  คนตั้งใจสอนอธิบายความรู้และวิธีการการดูแลตัวเอง  การให้สุขศึกษากับคนไข้ในโรคที่สามารถป้องกันได้  และคนไข้ที่ตั้งใจฟังรวมทั้งสอบถามข้อสงสัย  ทำให้อัตราการ  Re-admit ด้วยโรคที่ป้องกันได้ลดลง จากจุดเล็กๆ ที่มีการให้สุขศึกษาโดยใช้แฟ้มความรู้  เราก็มีการเพิ่มบอร์ดความรู้  แผ่นพับและมีการทบทวนความรู้โดยการทำแบบทดสอบ และมีการเปิดเสียงตามสายในช่วงบ่ายของทุกวันในเรื่องโรคที่ป้องกันได้และโรคที่พบได้บ่อยที่เข้ามานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
                หลังจากนี้เรื่องโรคที่ป้องกันได้คงเป็นเรื่องง่ายๆ  สำหรับผู้ป่วยเพราะมีพยาบาลคอยใส่ใจ  และให้คำแนะนำ  ถ้ามีเพียงดิฉันคนเดียวที่คอยดูแลในเรื่องนี้งานนี้ก็คงจะไม่สำเร็จ  น้องทั้ง  2  คนก็เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ

วิชาชีพพยาบาล


           ย่างเข้าปีที่  4  แล้วของการทำงานที่  รพร.ด่านซ้าย  รู้สึกเร็วเหมือนกัน  หลังจากที่ฉันได้เข้ามาทำงานที่นี่  ฉันได้เรียนรู้การทำงานหลายๆ อย่างทั้งงานด้านปฏิบัติการพยาบาลและงานพัฒนาคุณภาพถูกสั่งสมและบ่มเพาะให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลคุณภาพแห่งนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ทุกวันนี้ฉันก็ยังรู้สึกดีใจและภูมิใจกับการทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้เสมอ
                ฉันได้เข้าทำงานใน  รพร.ด่านซ้าย  ตั้งแต่เรียนจบ  ปี  2550  จบมาแล้วไม่ได้ไปที่ไหนเลยกลับมาทำงานที่บ้านทันที  ครั้งแรกที่ได้รับรู้ว่าตนจะต้องกลับมาทำงานที่นี่  คิดว่า  รพ.นี้เป็นเหมือน  รพ.  ชุมชนแห่งอื่นเท่านั้นแต่พอฉันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว  รพร. ทำงานที่นี่แล้ว  ฉับกลับพบว่าที่นี่เป็นมากกว่า  รพ.ชุมชนเสียอีก  เพราะทุกคนมุ่งมั่นทำงานกันมาก
                ฉันได้รับเข้าทำงานในหน่วยงานแผนกหอผู้ป่วยใน  1  ตึกที่ฉันอยู่ถูกสร้างมาตั้งแต่เริ่มแรกของการเป็น  รพ.  คงเก่าที่สุด  เหนื่อยที่สุดและมีจำนวนบุคลากรมากที่สุดเช่นกัน  งานที่หอผู้ป่วยในมีจำนวนค่อนข้างมาก  มีงานหลายอย่างที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกๆ  ปี  ทุกเดือน  และทุกๆ  วัน  ทำให้ฉันต้องได้รับการสอนจากรุ่นพี่ซึ่งมากด้วยประสบการณ์  จากการสอนของรุ่นพี่พร้อมๆ  กับการการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ทำให้ฉันสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ  ในทุกขั้นตอน  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก  เพราะมันช่วยทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย  แต่ละปีจะมีการเขียนขอย้าย  และในปีนี้ก็มีเจ้าหน้าที่จากหอผู้ป่วยใน  1  ได้รับการโยกย้ายถึง  3  คน  น่าใจหายแต่ถึงอย่างไรก็ย่อมมีการรับบุคลากรเพิ่ม  ไม่นานนักก็มีน้องใหม่ร่วมทำงานอีก  3  คน  ฉันกลายเป็นรุ่นพี่ที่มีโอกาสได้สอนงานบางส่วนให้กับน้องๆ  ฉันได้มีโอกาสสอนน้องเกี่ยวกับเรื่องเบาหวาน  เป็นเรื่องที่เข้าใจค่อนข้างยากการคำนวณ  BMI  นับคาร์บ  นับปั้นข้าว  คำนวณพลังงานที่ผู้ป่วยควรจะได้รับรวมถึงอาหารแลกเปลี่ยนของผู้ป่วยเบาหวาน  สอนทั้งทฤษฎีและให้น้องปฏิบัติจริงต่อหน้า ซึ่งน้องก็ทำได้และช่วยเอาใจใส่เป็นอย่างดี  สอนเรื่องกิจกรรมการจัดรายการเสียงใจจากใจ  Nurse  ในหอผู้ป่วยจนขณะนี้น้องได้รับผิดชอบร่วมเปิดรายการด้วยแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายคือการจัดรายการเสียใจจากใจพยาบาลสู่ชุมชน ช่วงแรกๆ  พาน้องไปจัดรายการพอจะรับรู้ความรู้สึกของน้องได้ว่ากลัวแค่ไหน  เพราะเคยผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อน  แต่จริงๆ  แล้วความกลัวเราสามารถเอาชนะมันได้ง่ายๆ  ขอแค่ไม่กลัวทำในสิ่งที่ผิดก็พอ  นอกจากนี้ฉันยังได้มีโอกาสสอนน้องเกี่ยวกับความพึงพอใจในหน่วยงาน และงานสารสนเทศการใช้โปรแกรม  HOSxP  อีกเล็กน้อย  ไม่ได้มีแค่ฉันคนเดียวหรอกที่ได้สอนให้น้องได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ  เหล่านี้พี่ๆ  ทุกคนสอนให้น้องอีกหลายๆ  เรื่องเช่นกัน
                ฉันเชื่อว่าการได้สอนน้องในแต่ละเรื่องของการทำงานนี้จะส่งผลให้น้องมีพลัง  ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง  ได้ทำงานอยู่ในวิชาชีพของการทำงานบนความซื่อสัตย์  อดทน  เสียสละ  ต่อไปด้วยความภูมิใจ  และอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย  ร่วมกันสร้างพลังจากการทำงานในหน่วยงานและเติบโตเป็นบุคคลคุณภาพร่วมพัฒนา  รพ.ของเราต่อไป  หากแต่การสอนคนเพียงเท่านี้ไม่เพียงแต่สอนในเรื่องงานให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น  แต่จะช่วยหล่อหลอมให้คนเป็นคนที่มีคุณภาพต่อไปอีกด้วย

คุณค่าวิชาชีพพยาบาล


คุณค่าวิชาชีพ.......พยาบาล

     ตลอดหลายปีของการทำงานที่ผ่านมา  มีเรื่องราวต่างๆ  เกิดขึ้นในชีวิตมากมาย  ทั้งเรื่องดีและไม่ดี  ประสบการณ์ต่างๆ  ในชีวิตที่ผ่านมาทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง  คือ  คุณค่าของการทำงานในวิชาชีพการพยาบาล  ในความรู้สึกของตนเองคิดเสมอว่าวิชาชีพการพยาบาลเป็นงานที่หนักต้องดูแลผู้ป่วย  อยู่กับความเป็นความตายของคน  ดังนั้น  เราต้องมีระเบียบ  วินัย  และมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและงานที่ทำ  และที่สำคัญคือ  ต้องตรงต่อเวลา  และต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ  อยู่เสมอ  ซึ่งเป็นเรื่องยากพอควรสำหรับบางคนที่มีครอบครัว  ย้อนกลับไปตอนเป็นพยาบาลเทคนิคที่ต้องทำทุกอย่างเหมือนพยาบาลวิชาชีพ  ซึ่งบางอย่างไม่เคยเรียนไม่เคยฝึกปฏิบัติ  ก็จะมีรุ่นพี่คอยสอนและแนะนำซึ่งเป็นสิ่งดีๆ  ที่ถ่ายทอดต่อๆ  กันมา  อยู่มาวันหนึ่งต้องพัฒนาตนเองไปเป็นพยาบาลวิชาชีพโดยศึกษาต่อเนื่องแต่ต้องเรียนด้วยตนเอง  ทำงานไปด้วย  ไม่ได้ลงไปเรียนใน  Class  ที่มีเพื่อนๆ  ต่างถิ่น  มีอาจารย์มาสอนและฝึกประสบการณ์ในสถานพยาบาลหลายๆ  แห่ง  และฝึกเป็นเวลาหลายวันถึงเป็นเดือนเหมือนคนอื่นๆ  ทำให้ตนเองรู้สึกว่าคงมีความรู้และประสบการณ์ไม่เพียงพอที่จะสั่งสอนน้องๆ  ที่จบใหม่ไฟแรงที่เพียบพร้อมด้วยวิชาการเต็มร้อย  แต่สิ่งที่คิดว่าตนเองถ่ายทอดได้คงเป็นเพียงแค่เทคนิคเล็กๆ  น้อยๆ  หรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในหน่วยงาน  การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ  และสิ่งหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลต่อจากพี่  คือ  การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังซึ่งตนเองก็คิดว่าตัวเองยังไม่รู้อย่างลึกซึ้งพอที่จะสอนน้องได้ดี  ได้แต่แนะนำให้น้องๆ  ไปศึกษาเอง  น้องบางคนเรียนรู้และเข้าใจปฏิบัติได้เร็ว
                เรื่องพี่สอนน้องเป็นเรื่องดี  แต่ตัวเองไม่มีความมั่นใจที่จะสอนใครเลย  คิดว่าตนเองไม่มีศาสตร์และศิลป์ในการพูดหรือสื่อสาร  แต่ก็ประทับใจน้องๆ  ทุกคนที่ให้เกียรติและร่วมมือกันด้วยดีตลอดมา  และเมื่อน้องๆ  โตเป็นพี่แล้วมีรุ่นน้องจบมาใหม่  ก็จะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องใหม่ต่อไป  และยินดีที่มีน้องมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน  เพื่อพัฒนางานและวิชาชีพการพยาบาล
                    

                                                                         

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความภูมิใจ.....ของวิชาชีพพยาบาล

     ช่วงปี 2551 ทางโรงพยาบาลได้ให้โอกาสที่ดีไปอบรม  เรื่องสมาธิบำบัดที่วัดปัญญานันทาราม  คลอง  3  จังหวัดปทุมธานี  เป็นเรื่องโชคดีของชีวิตที่ได้มีโอกาสไปอบรมลักษณะนี้  เพราะนำมาใช้กับการทำงานและชีวิตได้ด้วย  ต้องขอขอบคุณหัวหน้างานมากค่ะ  ที่ให้โอกาส  การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายประเมินกิจกรรมสมาธิบำบัดอยู่ในระดับดีเยี่ยม
       โครงการศูนย์สมาธิบำบัดสำหรับผู้ป่วยและญาติ  เป็นโครงการที่จัดขึ้นตามแผนปฏิบัติการของโรงพยาบาลในปี  พ.ศ.2549-2552  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อจัดตั้งเครือข่ายศูนย์สมาธิบำบัดสำหรับผู้ป่วยและญาติในสถานบริการ  รวมทั้งหาต้นแบบในการพัฒนาสุขภาพให้มุ่งไปสู่การสร้างสุขภาพแบบองค์รวม  แนวพุทธ  โดยใช้สมาธิบำบัดเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินการฝึกและพัฒนาจิตให้เกิดสมรรถภาพจิต  คุณภาพจิต  และสุขภาพจิตที่ดี  เพื่อตอบสนองนโยบายคนไทยแข็งแรง  เมืองไทยแข็งแรง  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย  คือ  ผู้ป่วย  ญาติ  บุคลากรทางการแพทย์  และประชาชนทั่วไปในเขตรับผิดชอบของสถานบริการ
       สุขภาพองค์รวมแนวพุทธ  และสมาธิบำบัดได้เริ่มเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จ ณ. โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ทรงตรัสแก่ข้าราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามเสด็จว่า
   “สมาธิเป็นเรื่องที่มีประโยชน์  ควรนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังในทุกโรงพยาบาลทั่วทั้งประเทศ  และน่าจะนำไปใช้ที่บ้านด้วย”
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  10/พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติให้ความหมายของสุขภาพหมายถึง  “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย  จิตใจ  ทางปัญญาและทางสังคม  เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล”
      นพ.ชูฤทธิ์  เต็งไตรสรณ์  หัวหน้างานสมาธิบำบัด  กองการแพทย์ทางเลือก  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ท่านเป็นวิทยากรประจำตลอดการอบรม  ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ป่วยแนวพุทธ
    วันแรกของการอบรมวิทยากรบอกกับผู้เข้าอบรมว่าให้ทุกคนถอดหมวกไว้ที่บ้านก่อนท่านที่สวมหมวกหลายใบ  ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบไม่ใช่หมวกจริงๆ  ผู้เข้าอบรมบางท่านเป็นหัวหน้าตึก  หัวหน้างานต่างๆ  ภรรยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เป็นแม่ของลูก  เป็นภรรยา  ฯลฯ  แต่ทุกคนมาอบรมต้องปล่อยวาง  รับการอบรมอย่างเต็มที่
    ช่วงอบรมมีพระอาจารย์สลับกันมาให้ความรู้ตลอด  รู้สึกประทับใจกับคำสอนของพระอาจารย์ทุกท่านที่ให้แนวคิดมาใช้ในชีวิตและการทำงาน  มีท่านหนึ่งที่ประทับใจมาก  ท่านเป็นพระอาจารย์ฝรั่ง  ท่านมาอยู่เมืองไทยนานแล้ว  พูดภาษาไทยชัดเจน  ท่องภาษาบาลีได้เก่งมาก  ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า  คนเราไม่ต้องคิดอะไรมากปล่อยวางจิตใจไม่ฟุ้งซ่านเพื่อจะได้ทำงานอย่างมีความสุข  มีคนคิดเชิงบวกไว้  สมมุติว่าเงินเดือน  15,000  บาท  ให้คิดว่า  5,000  บาท  เป็นค่านายว่า  5,000  บาท  ค่าเพื่อนร่วมงานตำหนิ  นินทา  อีกที่เหลือ  5,000  บาท  ก็เป็นค่าทำงาน  คิดได้อย่างนี้แล้ว  สบายใจเมื่อถูกตำหนิ  ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามเกี่ยวกับงานจะไม่ท้อแท้หรือหมดกำลังใจง่าย  จึงทำให้มีมุมมองในการคิดและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้วิธีเปลี่ยนความคิดที่ตัวของเราเองก่อน
      ศูนย์สมาธิบำบัดที่กล่าวถึง  หมายถึง  ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทาน  ศีล  ภาวนา  ให้กลุ่มเป้าหมาย  หลัก  3  กลุ่ม  คือ  กลุ่มผู้ป่วย  ญาติ  เจ้าหน้าที่  และประชาชนทั่วไปในเขตรับผิดชอบของสถานบริการทางด้านสุขภาพนั้นๆ
     ศูนย์สมาธิบำบัดมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเป็นกิจกรรมที่นำหลักธรรมทางศาสนาในเรื่อง  ทาน  ศีล  ภาวนา  สถานบริการนั้น  เพื่อให้เกิดสติหรือความสุขสงบทางอารมณ์  เพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วยให้กลับคืนสู่วัฒนธรรมทางแพทย์ดั้งเดิมของคนไทยในอดีตเพื่อฝึกการออกกำลังจิตในกลุ่มผู้ป่วย  ญาติ  เจ้าหน้าที่  และประชาชนในเขตรับผิดชอบและที่สำคัญ  เพื่อลดข้อร้องเรียนด้านพฤติกรรมในการให้บริการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
        กิจกรรมทาน  เป็นกิจการที่เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจให้เกิดความเสียสละ  ลดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ได้แก่  การบริจาค  การทำบุญ  การตักบาตร  การปล่อยสัตว์  การให้ธรรมะหรือความรู้  การถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ป่วยและญาติ
      กิจกรรมศีล  เป็นกิจการที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีงามถูกต้องเหมาะสม  ได้แก่  กิจกรรม  5  ส   การตรงต่อเวลา  การส่งเสริมสุขภาพ  การรักษาสิ่งแวดล้อม  การประหยัดพลังงานของสถานบริการ
        กิจกรรมภาวนา  เป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดสติ  เกิดการตั้งมั่น  สงบนิ่ง  เป็นสมาธิไม่ก่อให้เกิดโทษต่อตนเองและผู้อื่น  เช่น  การสวดมนต์  การนิ่งสมาธิ  การแผ่เมตตา  การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
      สำหรับสมาธิบำบัดในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย  มีกิจกรรมที่ทำสนใจ  คือ  การทำบุญตักบาตรทุกวันพระ  8  ค่ำ  15  ค่ำ  ก่อนวันพระ  1-2  วัน  พยาบาล/ผู้ช่วยเหลือคนไข้  ประกาศเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ป่วยเตรียมใส่บาตรพรุ่งนี้  นิมนต์พระสงฆ์จากวัดป่าเนรมิตวิปัสสนา  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  จำนวน  3  รูป  คุณไกรลาศ พิมพ์รัตน์  จิตอาสารับส่งพระ  สลับกับพนักงานขับรถของ  รพ.  สถานที่ใช้บริเวณห้องโถงหน้าตึกผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือลุกลำบากหากประสงค์จะทำบุญ  นิมนต์พระสงฆ์  ใส่บาตรที่เตียง  เจ้าหน้าที่เตรียมกระจาดใส่ของ  แก้วน้ำ  ขวดน้ำสำหรับกรวดน้ำให้มีบทสวดมนต์ให้อ่าน  กล่าวคำถวายเสร็จหอผู้ป่วยใน  1  ต่อด้วยหอผู้ป่วยใน  2  ถ้าหากผู้ป่วยและญาติไม่ทันก็สามารถตักบาตรบริเวณทางเดินพระสงฆ์ลงมาได้
       สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกวัน  เวลาทำกิจกรรมประมาณ  19.30-20.00 น.  เตรียมผู้ป่วยจัดสิ่งแวดล้อมให้สงบปิดไฟ  ประกาศเสียงตามสายเชิญชวนเตรียมตัวสวดมนต์ไหว้พระ  หันหน้าไปทางหิ้งพระประจำตึกฝั่งหญิงฝั่งชาย  จากนั้นจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยพักผ่อน
     ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเกือบทั้งหมด  นับถือศาสนาพุทธเมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ไม่พลาดโอกาสที่ได้ทำบุญและสวดมนต์ไหว้พระทำให้รู้สึกเหมือนผู้ป่วยทำให้สามารถปรับตัวขณะอยู่โรงพยาบาลได้ง่าย  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และญาติ  ผู้ป่วยและญาติไว้วางใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น  ทำให้การพูดคุยปัญหาผู้ป่วย  การให้คำแนะนำต่างๆ  ง่ายขึ้น  อีกทั้งได้ฟังวัฒนธรรมมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล

วิชาชีพพยาบาล.......

        วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน  ความรู้ที่มีในตำราต้องนำมาปฏิบัติกับผู้ป่วย  ซึ่งหมายถึง  ความเป็นความตาย  ฉะนั้นทุกอย่างที่ทำกับผู้ป่วยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ  แต่ก่อนที่จะได้ลงมือปฏิบัติกับผู้ป่วย  ย้อนไปอดีตขณะเป็นนักศึกษาพยาบาล  ก็จะมีอาจารย์พยาบาลเป็นคนกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด  จบเป็นพยาบาลใหม่เข้าทำงานจะมีพี่พยาบาลคอยดูแลทุกอย่างที่เราปฏิบัติกับผู้ป่วย  จะเห็นได้ว่าวิชาชีพเราเป็นวิชาชีพที่พี่สอนน้อง  เพราะน้องใหม่ที่จบมายังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะนอกเหนือจากตำราที่เรียนมา 
       ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นน้องใหม่  ประสบการณ์ต่างๆ  ที่พี่สอนรู้สึกประทับใจและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้เขียนอยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีๆ  ในการทำงานแก่น้องพยาบาลที่จบใหม่  สิ่งที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลน้อง  เช่น  สิ่งปวดล้อมและความปลอดภัย  การดูแลผู้ป่วยวิกฤต  เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญในหน่วยงาน  ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ในหน่วยงานที่สำคัญ  ได้แก่  Defibrillator,  EKG  Defibrillator  น้องใหม่ที่จบมาบางคนยังไม่เคยเห็นไม่เคยใช้  ติด  Lead  ยังไม่เป็น  ต้องบอกว่าแดงเหลืองเขียวติดบริเวณใดแล้ว  ยังมีคู่มือเป็นไกด์ติดไว้ที่ตัวเครื่องเพื่อได้ทบทวน  สิ่งที่สำคัญคือการดูแลรักษาหลังใช้งาน  ควรเช็ดเจล ออกจาก  papdle  ม้วนเก็บสายให้ดีไม่ให้สายแตกหัก  เพราะเคยมีสายแตกจนได้เปลี่ยนสายใหม่แล้ว   EKG  จะมีปัญหาน้องใหม่ติด  Lead  ยังไม่คล่อง  จึงต้องบอกว่าท่องจำได้จะเร็วขึ้น  คือเริ่มจากแดง  เหลือง  เขียว  น้ำตาล  ดำ  ม่วง  แต่ไม่จำก็ได้ให้ดูที่สีและคู่มือที่เป็นไกด์ไว้กับตัวเครื่อง  ที่สำคัญใช้งานเสร็จควรนับอิเล็กโทรตให้ครบ ห้ามหายห้ามแตก  และที่สำคัญเมื่อกระดาษหมด  เปลี่ยนใส่อย่างไรก็สำคัญ  ดังนั้น  หอผู้ป่วยเราจึงมีการดูแลตรวจสอบความพร้อมใช้ของเครื่องมือในหน่วยงานทุกวันเพื่อให้พร้อมใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย
            จะเห็นได้ว่าบทบาทพยาบาลนอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้ว  ในองค์กรก็ต้องมีการดูแลซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะน้องใหม่เพราะยังขาดประสบการณ์ในการทำงานเพื่อให้ได้เป็นพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเป็นคลื่นลูกใหม่ของวิชาชีพต่อไป

ประสบการณ์ดีดี

     เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่งดิฉัน พี่ต่าย ฝ่ายกายภาพและพี่แน่งฝ่ายเวชฯ ได้ไปเยี่ยมบ้านตาประสิทธิ์ ศรีพรหม ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีปัญหาเรื่องการลุกเดินทำกิจกรรม เรื่องหอบ หลังจากที่ดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านไปถึงบ้าน ลูกเขยของคุณตาได้พาดิฉันและทีมเยี่ยมบ้าน เข้าไปหาคุณตาที่ห้อง (ส่วนตัว) ของคุณตา เป็นห้องที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเกือบทุกอย่าง เช่น TV, ห้องน้ำ, พัดลม ฯลฯเมื่อคุณตาเห็นดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านดูท่าทางคุณตาดีใจมาก ส่งเสียงทักทายทันที และสอบถามเกี่ยวกับเรื่องที่สงสัย แต่คุณตาค่อนข้างหูตึงจึงต้องสื่อสารกันโดยการเขียนข้อความให้อ่าน ส่วนคุณตาก็สวมแว่นตา และมีแว่นขยายข้าง ๆ ทีมเยี่ยมบ้านเริ่มต้นด้วยการประเมิน V/S ได้ความดันโลหิต120/80 mnHgหลังได้รับยาความดันโลหิตสูงไปรับประทาน ดิฉันบอกคุณตาว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ คุณตาดีใจมาก ต่อมาก็ประเมินเสียงปอด เสียงปอดปรกติ ถามถึงยาพ่น คุณตาหยิบออกมาให้ดู และพยายามจะกดให้ดูแต่ไม่มีแรง ลูกเขยต้องมาช่วยกดให้คุณตาๆสูดยาเข้าปอดได้ ลูกเขยคุณตาบอกดิฉันและทีมเยี่ยมบ้านว่าคุณตาจะเชื่อฟัง และปฏิบัติตามที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่แนะนำเท่านั้น แต่เมื่อญาติหรือคนรู้จักบอกจะไม่ค่อยเชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตาม หลังจากนั้นคุณตาก็ได้แสดงวิธีการบริหารปอดด้วยการเป่าลูกโป่ง คุณตาเป่าได้ 2 ลูก สังเกตว่าข้าง ๆ คุณตาจะมีลูกโป่งที่คุณตาเป่าวางไว้จำนวนมาก และที่ยังไม่ได้เป่าก็มากเช่นกัน จากนั้นกายภาพก็แนะนำเรื่องการบริหาร โดยการชกลูกโป่งที่เป่าไว้ คุณตาชกใหญ่ บอกว่าเคยเป็นนักมวยเดิม ชกอยู่นาน จนดิฉันและทีมเห็นว่าคุณตาเริ่มเหนื่อยแล้วจึงให้หยุด ลูกเขยบอกว่าทุก ๆ เดือนคุณตาจะชอบซื้อหวย และลอตเตอรี่ (ฝากลูกซื้อ) และจะมีทีมซื้อหวยมาเป็นประจำ คุณตาบอกว่าถ้าถูกลอตเตอรี่จะเอาไปรักษาตัวให้หายเป็นปกติ ส่วนเรื่องปัญหาการลุกเดินของคุณตา ลูกได้ทำราว 2 ข้าง ให้เข้าไปถึงหน้าห้องน้ำ ให้คุณตาลุกเดินไปอาบน้ำ และเข้าห้องน้ำได้เอง โดยไม่ต้องมีคนช่วยและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนการเดินโดยใช้ Walker เดินออกไปนอกบ้าน คุณตาปฏิเสธเพราะเคยหกล้มครั้งหนึ่ง จากนั้นดิฉันและทีมเยี่ยมก็แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอีกครั้งก่อนกลับ
       ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 ของการเยี่ยมวันนี้ คือ ยายปิว Case ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่ดูผอมเพลีย พลิกตัวลำบาก นั่งไม่ได้ ตัวคุณยายและลูก ๆ ทราบเกี่ยวกับโรคและอาการของคุณยายดี ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ญาติบอกว่าคุณยายเริ่มกินได้น้อย กินแต่อาหารประเภทน้ำ ๆ เห็นนั่นเห็นนี่ผิดจากความเป็นจริง ยายปิวมีปัสสาวะเล็ด ญาติจึงใส่ผ้าอ้อมไว้ให้ ส่วนปัญหาเรื่องท้องอืดไม่มี ส่วนปัญหาเรื่องปวด ก็ได้ยา Tramol จัดให้ทานไม่ได้ขอยาเพิ่ม ผู้ป่วยก็อยู่ได้ หลังจากพูดคุยกับคุณยายได้สักครู่คุณยายก็หลับ ดิฉันและทีมเยี่ยมบ้าน จึงออกมาคุยนอกห้องคุณยาย พี่แน่งได้ให้แผ่นพับเกี่ยวกับอาการ และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์แก่ญาติไว้ เวลามีปัญหาให้โทรไปปรึกษาได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งแนะนำให้ญาติยืมแผ่น CD ธรรมะได้ที่หอผู้ป่วยใน 1 เพื่อนำมาเปิดให้คุณยายฟัง พี่แน่งได้ถามญาติและลูกผู้ป่วยว่าตัวคุณยายอยากทำอะไรหรืออยากได้อะไรไหม ญาติและลูก ๆ บอกว่า ก่อนหน้านี้คุณยายเป็นคนชอบทำบุญก็ได้พาคุณยายไปใส่บาตรที่หน้าบ้านแล้ว (ตอนที่คุณยายยังมีแรงดีอยู่) พาไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัด และผู้ป่วยอยากไปไหว้พระธาตุ ก็พาคุณยายไปไหว้แล้ว อย่างอื่นก็ไม่มีอะไร ก่อนกลับก็ย้ำให้ลูกและญาติไปเอาแผ่น CD ธรรมะที่ตึกหอผู้ป่วยใน 1 เพื่อมาเปิดให้คุณยายฟังบ้างก่อนเดินทางกลับโรงพยาบาลเวลา 16.00 น.
       วันนี้ดิฉันรู้สึกว่าได้ค้นพบบางสิ่งจากการออกเยี่ยมบ้านกับทีมเยี่ยมบ้านหน้าที่ของเรานั้นไม่ได้มีเพียงการดูแลแล้วผ่านเลยไปในหอผู้ป่วย การติดตามเยี่ยมได้เห็นถึงรอยยิ้มปัญหาของผู้ป่วยในแต่ละด้านแต่ละโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้ประสบกับความทุกข์ที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยได้มีแรงสู้กับชีวิตต่อไป อย่างมีความสุขไม่ทนทุกข์ทรมานมาก

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

เยี่ยมบ้าน.....ครั้งแรก.......

       วันที่ 4 ตุลาคม 2554 เวลา 13.30 . ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมบ้านกับพี่แน่ง พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งเป็นการลงเยี่ยมบ้านครั้งแรกของการทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โดยวันนี้พี่แน่งอธิบายว่า จะลงเยี่ยมบ้าน 2 ราย โดยรายแรก คือ ผู้ป่วย COPD ซึ่งปัญหาที่ต้องลงไปประเมินที่บ้านคือ การใช้พ่นยาไม่ถูกต้อง เมื่อเดินทางไปถึงบ้านผู้ป่วยแล้ว มองดูสภาพรอบ ๆ บ้าน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ใต้ถุนบ้านมีของต่าง ๆ วางอยู่ บันไดบ้านเริ่มชำรุด บริเวณบนบ้านกว้างขวาง ห้องนอนคุณตาสำรวยซึ่งเป็นผู้ป่วยนั้นมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ของในห้องนอนวางไม่ค่อยเรียบร้อย ในขณะที่มองรอบ ๆ บ้านอยู่ คุณตาสำรวยก็เดินออกมาจากบ้าน พี่แน่งได้กล่าวทักทายคุณตาสำรวย แล้วพี่แน่งก็เริ่มสนทนา เกี่ยวกับการพ่นยาของคุณตา ซึ่งคุณตาสำรวยบอกว่าตนเองพ่นยาถูกต้องตามที่หมอสั่ง ก็เลยให้คุณตาพ่นยาให้ดู คุณตาพ่นได้ถูกต้อง แต่ดูกล่องยาพ่นแล้ว หมดทุกกล่องแล้วก็หมดก่อนวันที่หมอนัด ซึ่งน่าจะหมายความว่าคุณตาสำรวย พ่นยาบ่อยเกินไปหรือพ่นยาผิด เช่น Seretide หมอสั่งให้พ่น เช้า – เย็น แต่คุณตานำไปพ่นเวลาที่รู้สึกเหนื่อย จึงแนะนำการพ่นยาแต่ละชนิดที่ถูกวิธีให้คุณตาเข้าใจใหม่ แล้วก็ถามเรื่องครอบครัว โดยครอบครัวของคุณตาสำรวยอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ คุณตา ลูกชายและลูกสะใภ้ อาศัยอยู่บ้านก็มีความสุขดี แต่พอพี่แน่งถามเรื่องภรรยา คุณตาก็มีสีหน้าเศร้า น้ำตาคลอ บอกว่าน้อยใจที่ภรรยาไม่มาเยี่ยม พี่แน่งจึงพูดให้กำลังใจและเปลี่ยนเรื่องคุย หลังจากนั้นคุณตาก็มีสีหน้าแจ่มใสขึ้น จึงดูแลตรวจร่างกายและวัดความดันโลหิต คุณตาดูเหนื่อยเล็กน้อย คุณตาบอกว่า “เวลาทำกิจกรรมแล้วจะเหนื่อยง่าย” ต้องนั่งพักเป็นประจำ พี่แน่งจึงแนะนำให้คุณตาทำกิจกรรมเบา ๆ เพราะหากทำกิจกรรมแล้วเหนื่อยให้นั่งพักผ่อนก่อนแล้วค่อยทำกิจกรรมต่อ และแนะนำให้เดินขึ้นลงบันไดอย่างระมัดระวังเนื่องจากบันไดเริ่มชำรุด หลังจากนั้นก็ได้ลาคุณตากลับ
         ขณะเดินทางกลับได้แวะบ้านของภรรยาคุณตาสำรวยเพื่อให้ภรรยาไปรับยาพ่นที่โรงพยาบาลให้คุณตา และพี่แน่งก็ได้อธิบายให้ภรรยาทราบว่าคุณตาเหงาอยากให้ไปเยี่ยมบ้าง ซึ่งคุณยายก็รับปากว่าจะไปเยี่ยมดูแลให้บ่อยขึ้น หลังจากนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมคุณลุงทันใจ อรรคสูรย์ ผู้ป่วย COPD , HT ปัญหาที่ต้องไปเยี่ยมคือ กินยาไม่ถูกต้อง เมื่อเดินทางไปถึงบ้านรอบ ๆ บ้าน บริเวณบ้านสะอาด พอเข้าไปในบ้านเจอคุณลุงทันใจ และภรรยา ดูแจ่มใส พี่แน่งทักทาย และพูดคุยถึงกิจกรรมที่คุณลุงทำในแต่ละวัน โดยคุณลุงชอบขับมอเตอร์ไซด์ไปตกปลา และทำกิจกรรมในบ้านเป็นประจำไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ทำให้คุณลุง รู้สึกเหนื่อยง่าย พี่แน่งจึงแนะนำให้คุณลุงทำกิจกรรมเบา ๆ และแนะนำไม่ให้ออกไปตกปลาคนเดียวและงดการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก ถ้ารู้สึกเหนื่อยให้นั่งพักหลังจากนั้นจึงถามเรื่องการพ่นยาและการกินยา การพ่นยานั้นคุณลุงสามารถบอกได้ว่า Seretide พ่นวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น และยา Ventolin นั้นให้พ่นเวลาหอบ พอถามเรื่องการกินยา สามารถอธิบายได้ว่ากินยาเวลาใด หลังจากนั้นจึงประเมินร่างกาย วัดความดันโลหิต คุณลุงดูไม่มีอาการหอบเหนื่อย หลังจากนั้นจึงลาคุณลุงกลับโรงพยาบาล คุณลุงและภรรยาก็กล่าวขอบคุณที่มาเยี่ยม ขณะที่เดินทางกลับโรงพยาบาล พี่แน่งก็เล่าให้ฟังว่า ครั้งก่อนที่มาเยี่ยมคุณลุงทันใจ ความดันโลหิตสูงมาก พี่แน่งจึงสอบถามเรื่องการกินยา ความดันโลหิตว่ากินประจำทุกวันไหม ซึ่งคุณลุงทันใจไม่ได้กินยา เป็นประจำ พี่แน่งจึงแนะนำว่าให้ทานยาเป็นประจำทุกวันตามที่หมอสั่ง พอมาเยี่ยมครั้งนี้ถามเรื่องการกินยาลุงก็บอกว่าทานยาเป็นประจำทุกวันตามที่หมอสั่ง และประเมินจากความดันโลหิต พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติ
         เมื่อเดินทางกลับมาถึงโรงพยาบาลพี่แน่งก็ได้สอนเกี่ยวกับลงข้อมูลการเยี่ยมบ้านใน Computer ทำให้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการลงข้อมูล และได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการเยี่ยมบ้าน โดยพี่แน่งพยายามแก้ไขปัญหานั้น ๆ ให้ลดน้อยลง และสังเกตเห็นว่า เวลาที่คุยกับ Case เยี่ยมบ้านพี่แน่งคุยเรื่องทั่วไป ไม่เจาะจงถึงปัญหาเนื่องจากผู้ที่ได้รับการเยี่ยมอาจไม่พูดความจริง ผู้มาเยี่ยมต้องสร้างความคุ้นเคยโดยการถามเรื่องความเป็นอยู่ คนที่ดูแลแล้วจึงถามเรื่องการพ่นยา การกินยา ก็จะทำให้ทราบถึงปัญหาและสิ่งที่ผู้ป่วยมีความความวิตกกังวล เพื่อจะนำปัญหานั้นมาร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกับญาติ และติดตามการเยี่ยมบ้านในครั้งต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ความสุข.......ของคนเยี่ยมบ้าน

   ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายจัดให้บริการคลินิกจิตเวชแก่ผู้ป่วยในเขตอำเภอด่านซ้าย และอำเภอใกล้เคียง เพื่อความสะดวกสบายในการมารับบริการของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งไม่ต้องการเดินทางไกลไปถึงจังหวัดเลย เพราะมีจิตแพทย์ตรวจรักษาด้วยตนเอง
   หลังคลินิกให้บริการเรียบร้อย ตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชไม่มาตรวจตามนัดหลายราย ในบ่ายวันนี้ เราเลือกที่จะไปเยี่ยมผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งไม่มาตามนัด และอยู่ในเขตเวชปฏิบัติครอบครัว ตำบลด่านซ้าย ซึ่งไม่ไกลมากนัก ห่างจากโรงพยาบาลระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อไปถึงบ้านพบคุณยายอายุเกือบ 80 ปี สอบถามแล้วเป็นแม่ของไพรวัลย์ ผู้ป่วยจิตเวชที่เรามาเยี่ยมนั้นเอง ไพรวัลย์อายุ 44 ปี อาศัยอยู่กับแม่ 2 คน ข้างบ้านเป็นบ้านของพี่น้องที่ปลูกเรียงรายกัน แม่ของไพรวัลย์ ต้อนรับเราอย่างกระตือรือร้น พร้อมกับเคี้ยวหมากปากแดง พูดพร้อมกับบ้วนน้ำหมากเป็นระยะๆ แม่ของไพรวัลย์บอกว่าไพรวัลย์อยู่ในบ้าน พร้อมเรียกลูกชายออกมาพบพยาบาล พบว่าไพรวัลย์ดูหน้าตาไม่สดชื่น อิดโรย แววตามีกังวล พูดน้อย ถามคำ ตอบคำ มีหูแว่วบ้างเป็นบางครั้ง แต่ไม่มีภาพหลอน กลางคืนนอนไม่หลับ และบอกว่ามีคนเอามีดมาผ่ากระเพาะตนเอง ไม่ให้กินยา ไพรวัลย์ไม่ยอมกินยาต่อเนื่องกินบ้างไม่กินบ้าง จึงทำให้อาการทางจิตกำเริบ แม่ของไพรวัลย์เล่าว่าหลังเลิกงาน เพื่อนๆจะมาชวนดื่มสุรา เมื่อดื่มจนเมาแล้วก็ลืมกินยา ทำให้เขานอนซมอยู่บ้านไม่อยากไปโรงพยาบาล และไม่อยากรับจ้างทำงาน
     ขณะที่พูดคุยกันอยู่ก็มีวัยรุ่นในหมู่บ้านเดียวกัน และเป็นญาติกับไพรวัลย์ เข้ามาทักทาย หนึ่งในนั้นก็เป็นผู้ป่วยจิตเวชเหมือนกันด้วย เขาจำพยาบาลได้ จึงเข้ามาพูดคุยด้วยได้พักหนึ่งแล้วก็ขอตัวกลับ แม่ของไพรวัลย์ บอกว่ากลุ่มนี้แหละที่ชอบชวนกินเหล้า พร้อมเข้าไปหยิบถุงยามาให้พยาบาลดู เมื่อเราถามหายาของไพรวัลย์พบว่ามีหลายถุง และไม่ได้รวบรวมไว้แต่ละชนิด อาจเป็นไปได้ว่า กินยาผิดชนิดและไม่ถูกเวลา เราจึงพยายามอธิบายวิธีการกินยาที่ถูกต้องแต่ละชนิดแก่แม่และไพรวัลย์ รวมทั้งแยกยาแต่ละชนิดที่ไม่จำเป็นเก็บคืนหลายถุง แม่ของไพรวัลย์ดูเข้าใจดี มีปัญหาเรื่องสายตาบ้าง แต่ก็พอเข้าใจ แต่ก็ยังกังวลว่า ลูกชายไม่ค่อยเชื่อฟัง ถ้ามีอาการกำเริบขึ้นมา แต่แม่ก็รับปากจะดูแลเรื่องกินยาให้มากขึ้น พูดพร้อมกับบ้วนน้ำหมาก แม่บอกว่าก็มีแต่แม่นี่แหละที่ดูแลไพรวัลย์เพราะ พี่ๆ น้องๆ ก็ไปทำมาหากิน ไปค้าขายในตลาด 2-3 คน เขาก็ได้ให้อาหารมากิน แม่บอกว่าห่วงแต่ไพรวัลย์ที่เลี้ยงไม่รู้จักโต ความจริงแล้ว ไพรวลย์เคยมีครอบครัว แต่เลิกรากันไปมีลูกสาว 1 คน ตอนนี้ลูกสาวก็แต่งงานมีหลานอายุ 1 ปีเศษแล้วด้วย ไพรวัลย์มีหลานก็เป็นตาแล้วซิ แม่บอกว่าถ้าแม่ตายไป ไม่รู้ว่าใครจะมาดูแลไพรวัลย์ ใช่สินะ ถ้าหากไม่มีใครดูแล ผู้ป่วย จิตเวชเหล่านี้อาการกำเริบมากขึ้น สำหรับผู้ป่วยจิตเวชแล้ววินัยในการกินยาสำคัญที่สุดและต้องงดสุรา/ บุหรี่ เพราะสิ่งเสพติดเหล่านี้มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาด้วย ทำให้ยาที่กินมีประสิทธิภาพลดลง
     เมื่อถึงเวลาพอสมควร เราขอลากลับพร้อมกับกำชับเรื่องการกินยา อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด นัดครั้งต่อไป และพวกเราบอกกับแม่และไพรวัลย์ว่าเราจะกลับมาเยี่ยมพวกเขาอีก เพื่อติดตามการรักษาต่อไป และวางแผนไว้ว่าเราจะทำอย่างไร ให้เขาดูแลคนเองได้ ทำงานได้โดยไม่เป็นภาระของคนอื่น พึ่งตนเองได้ วันนั้น คุณยายก็คงนอนตายตาหลับนั่นคือ โจทย์ของทีมเยี่ยมบ้านต้องทำการบ้าน ถ้าทำได้อย่างคิดไว้ ทีมเยี่ยมบ้านเองก็พลอยเป็นสุขด้วย

เรื่องของ........ยายปุ่น..

     บ้านไม้ชั้นเดียว รอบ ๆ มีต้นไม้ใหญ่เล็ก ดูร่มรื่นน่าอยู่ ถ้าเปรียบกับในเมืองแล้วคงมีแต่ฝุ่นควันเสียงรถวิ่งไปมา “ยายปุ่น” เสียงตะโกนเรียกด้วยน้ำเสียงใจดีและเป็นกันเองของป้าแน่ง ที่ต้องใช้คำว่าตะโกนร้องเรียกยายปุ่น เพราะยายปุ่น เป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน หูยายตึงมาก สักครู่ดิฉันมองเข้าไปใต้ถุนบ้านเห็นหญิงวัยชรา กำลังนั่งล้างจานอยู่คนเดียว “ยายปุ่น หมอมาเยี่ยม” ป้าแน่งทักทายยายปุ่นพร้อมกับสวัสดี ยายปุ่นลุกจากที่ล้างจานแล้วรีบออกมาต้อนรับทันที ดิฉันรู้สึกได้ว่ายายปุ่นยินดีและดีใจมากที่เห็นหมอแน่งมาเยี่ยมที่บ้านพร้อมกับดิฉันซึ่งวันนี้ใส่ชุดพยาบาลสีขาวมาด้วย สักพักไพบูรณ์ ลูกสาวของคุณยายปุ่นก็มาร่วมพูดคุยกับเราด้วย วันนี้เรามาเยี่ยมยายปุ่น และมาตรวจร่างกายยายปุ่น ยายสุขภาพแข็งแรงดี แต่ที่สำคัญสุขภาพจิตใจของยายคงดีมากเพราะมองจากสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใสตลอดการพูดคุย และมองไปบริเวณรอบ ๆ บ้านยังมีบ้านของลูก ๆ อยู่อย่างใกล้ชิด
ปัญหาของยายปุ่นทีเราพบคือว่าเมื่อไหร่ที่ไปตรวจที่โรงพยาบาลตามนัดทีไรยายก็มีระดับน้ำตาลสูงหรือไม่ก็น้ำตาลต่ำ จึงทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก ทำให้เราต้องลงเยี่ยมบ้านของยายเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา แล้วก็พบว่า ยายจะฉีดยา Insulin ก่อนไปเจาะเลือดวันนัดเบาหวานทุกครั้ง อ๋อ นี่เองคือสาเหตุปัญหา เรานั่งคุยกับยายอยู่นาน จึงถามยายปุ่นถึงเรื่องรับประทานยา “ยายค่ะ ยาตัวนี้ทำไมเหลือน้อยจัง” ยายปุ่นหยิบซองยามาดูและบอกว่า “กินวันละเม็ด” ป้าแน่งมองไปที่ซองยา ยานี้ให้กินวันละ 1 เม็ดตอนเข้า แต่ดูที่ OPD Card หมอสั่งยาใหม่ให้กินวันละครึ่งเม็ด “คุณยายกินยาผิดแล้ว” ซองยานั้นเป็นซองยาเก่าที่หมอสั่งมานานแล้วแต่ตอนนี้หมอลดยาลง ดิฉันจึงเขียนซองยาพร้อมอธิบายให้ยายปุ่นเข้าใจวิธีการกินใหม่ ซึ่งยายตั้งใจฟังและบอกว่าจำได้ เราทวนสอบความเข้าใจของยาย ยายก็ตอบคำถามได้เป็นอย่างดี เรานั่งคุยถามเรื่องทั่ว ๆ ไปกับยายปุ่น ยายคุยไปยิ้มไป สักพักเราก็ลายายปุ่นกลับโรงพยาบาล
    มาเยี่ยมบ้านครั้งนี้ทำให้ฉันรู้ว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ ในขณะที่เราทำงานในที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว การมาเยี่ยมบ้านเราได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตในแบบของชาวบ้าน เราได้รู้ถึงความลำบาก และการดูแลตนเองของคนไข้ที่เราพบเห็น วันนี้ดิฉันรู้สึกดีใจที่ป้าแน่งได้มาสอนประสบการณ์ใหม่ ๆ ดี ๆ ที่ทำให้เราได้รู้ในอีกมุมหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งมันไม่เหมือนกับการดูแลในหอผู้ป่วยในที่ทำงานอยู่ทุกวัน ประสบการณ์ครั้งนี้ดิฉันจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยและการทำงานต่อไป

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

เพราะเราผูกพันธ์....

วันนี้ป้าแน่งกับป้าน้อย จะพาพยาบาลหอผู้ป่วยใน 1ไปเยี่ยมบ้าน ไปดูงานด้วย ไปดูซิว่าเวลาป้าๆไปเยี่ยมบ้านเป็นยังไงกันบ้าง เวลา 13.00น.รถออกจากโรงพยาบาลป้าแน่งบอกว่า วันนี้เราจะไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 คนที่บ้านหนองฟ้าแลบ คนแรกชื่อยายปิวเป็นมะเร็งตับอ่อน คนที่ 2ยายคำฝุ่นเป็นมะเร็งปอด พี่ต้นคนขับรถขับรถไปเรื่อยๆระหว่างทางพี่แน่ง เล่าให้ฟังว่าความจริงแล้ววันนี้ไม่ใช่โปรแกรมออกเยี่ยมบ้านแต่จะพาน้องไปเยี่ยมยายเพราะว่าคุณยายดูไม่ค่อยดี การไปเยี่ยมคุณยายครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว เดี๋ยววันนี้เราจะไปเยี่ยมยายปิวก่อนคงใช้เวลาไม่มากนัก แล้วค่อยไปเยี่ยมยายคำฝุ่น
รถมาจอดหน้าบ้าน 2 ชั้น บ้านดูเงียบ ๆ แต่เปิดประตูไว้ พี่แน่งเดินเข้าไปหน้าบ้าน “สวัสดีค่ะหมอมาเยี่ยมค่ะ” สักครู่ป้าออนลูกสะใภ้ยายปิวเดินออกมายิ้มสวัสดีทักทาย พาเรา ป้าแน่ง ป้าน้อย เดินเข้าไปในห้อง ยายปิวนอนอยู่ในห้องชั้นล่างหลับตา ดูเหมือนอ่อนแรงเต็มที ป้าออนบอกว่า ยายไม่ยอมทานอะไรเลยตั้งแต่เช้าวันนี้นอนเป็นส่วนใหญ่ ปลุกก็ไม่ตื่น ป้าแน่งเข้าไปนั่งที่บนเตียงกับคุณยาย จับมือถามด้วยน้ำเสียงเอื้ออาทร “ยายเป็นไงบ้างหมอมาเยี่ยม” ยายปิวขยับตัวเล็กน้อยรับทราบถึงการมาของผู้มาเยือน ขวัญจับมือยายปิวดูปลายมือปลายเท้า เริ่มเขียวเย็นชื้น คุณยายหายใจแผ่ว ๆ ด้วยความลำบาก ดูเหมือนครั้งนี้ยายอาการทรุดลงมาก
ป้าแน่งเล่าว่า ครั้งแรกที่มายายยังพูดคุยได้ รู้ตัวรู้เรื่องดี คุณยายรู้สึกแปลกใจที่มีคุณหมอจากโรงพยาบาลด่านซ้ายมาเยี่ยม ป้าออน เล่าว่าหลังจากที่ป้าแน่งกลับคุณยายดีใจใหญ่ โทรไปเล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ที่สกลนครฟังว่ามีหมอมาเยี่ยมด้วย คุณยายเป็นคนสกลนครพึ่งย้ายมาอยู่กับลูกชายที่บ้านหนองฟ้าแลบได้ 2 เดือนหลังจากป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน
การเยี่ยมครั้งที่ 2 ที่ป้าแน่งมาเยี่ยม ยายยังพูดได้ ยิ้มดีใจเมื่อป้าแน่งและน้องแอน (พยาบาลหอผู้ป่วยใน 1) ไปเยี่ยม คุณยายบอก “ไม่ห่วงอะไรแล้ว” มีเหนื่อยมากขึ้น เวลาลุกทำกิจกรรมเหนื่อยง่าย แต่ยายไม่เหนื่อยใจ ยายมีความสุขมากที่ได้อยู่ท่ามกลางลูกหลานอันเป็นที่รัก ตอนนี้คุณยายใส่ Pampers ไว้เพราะลุกเข้าห้องน้ำไม่ไหว น้องอู๋ก็จะเป็นคนคอยเปลี่ยน Pampers เช็ดเนื้อเช็ดตัวทำความสะอาดให้ยายปิวด้วยความเต็มใจ เวลาออกไปธุระข้างนอกก็จะรีบกลับมาหาคุณยาย ทำงานอยู่ใกล้ ๆ คอยฟังเสียงเรียกของย่า
น้องอู๋ เป็นลูกชายป้าออนกับคุณลุงตำรวจที่เป็นลูกชายยายปิว ยายปิวผูกพันธ์กับหลานคนนี้มาก เพราะยายเลี้ยงมาตั้งแต่แรกเกิด สองยายหลานจะสนิทกันมาก “เขารักของเขา” น้องอู๋เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ อายุ 28 ปี ตั้งแต่รู้ว่ายายไม่สบาย น้องอู๋ก็ลาออกจากสโมสรฟุตบอล มาดูแลยายโดยเฉพาะ
ตื่นเช้าขึ้นมาทุกเช้า น้องอู๋ จะตื่นขึ้นมาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ยาย พายายเข้าห้องน้ำ ทำกับข้าวให้ยาย และพายายไปใส่บาตรหน้าบ้านทุกเช้า เป็นภาพประทับใจที่ใคร ๆ เห็นแล้วชื่นใจ เด็กหนุ่มในวัยนี้ แทนที่จะไปเที่ยวเล่น อยู่กับเพื่อน แต่กับมาอยู่กับย่า ดูแลด้วยความใส่ใจตลอดทั้งวัน น้องอู๋จะคอยดูแลยายปิวอยู่ไม่ห่าง ห้องที่นอนเป็นห้องของน้องอู๋ รอบ ๆ ห้องมีภาพนักกีฬาที่น้องอู๋ชื่นชอบติดอยู่เต็มไปหมดแต่บนหัวเตียงที่ยายปิวนอนอยู่ด้วยเป็นรูปหลวงปู่ หลวงพ่อที่ยายปิวศรัทธา

แต่การมาเยี่ยมครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 คุณยายเรียกไม่ลืมตา ไม่มีเสียงพูด เสียงหัวเราะเหมือนครั้งก่อน ป้าแน่งนั่งจับมือ พูดข้าง ๆ หูคุณยาย “ถ้าเหนื่อยมากก็พักนะค่ะคุณยาย ทำบุญทำกุศลมาเยอะแล้ว ให้นึกถึงบุญทานที่เคยทำมา ไม่ต้องห่วงใครแล้วนะค่ะ”
ป้าออนบอกว่ายายปิวพูดครั้งสุดท้ายถามหาลุงตำรวจที่เป็นลูกชาย ป้าออนบอกว่าคุณลุงไปช่วยน้ำท่วม ที่อยุธยาตั้งแต่เมื่อวาน ป้าออนโทรบอกคุณลุงแล้ว ถึงอาการทรุดลงของยายปิว คุณลุงกำลังจะกลับมา
ป้าน้อยนั่งอยู่ข้าง ๆ ป้าแน่ง บอกให้ คุณยายภาวนา พุทธโธ หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธ พูดไปน้ำตาไหลออกมา ด้วยความสงสารยาย เพราะว่าป้าน้อยรู้จักคุ้นเคยกับยายปิวนานแล้ว เคยเจอกันบ่อย ๆ เพราะแฟนป้าน้อยทำงานอยู่ที่เดียวกับลูกชายของยายปิว ป้าออนนั่งจับมือคุณยายอยู่อีกข้างน้ำตาซึม พูดไม่ให้ยายห่วงอะไร บอกลูกชายกำลังเดินทางมา
น้องอู๋เดินเข้ามาในห้อง ป้าแน่งบอกว่า ตอนที่คุณยายหายใจหอบขึ้น ปลายมือปลายเท้าเขียว เย็นยายคงอยู่กับเราอีกไม่นาน น้องอู๋นั่งลงแทบเท้าคุณยาย เอามือกุมเท้าคุณยายร้องไห้เงียบ ๆ ด้วยความเสียใจ ถึงแม้จะทำใจมานานแล้ว ความรู้สึกสูญเสียคนที่รักและผูกพันธ์ที่กำลังจะจากไป ไม่มีใครที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ ในระหว่างนั้น คุณป้าออน เปิดเทปธรรมะที่ยืมมาจากโรงพยาบาลด่านซ้าย ให้คุณยายฟังเบา ๆ
ป้าน้อยยังร้องไห้ไม่หยุด ป้าแน่งน้ำตาคลอแต่ไม่ร้องไห้ ป้าน้อยค่อย ๆ ขยับตัวออกมา บอกให้น้องอู๋เข้ามานั่งกุมมือคุณยาย นั่งเป็นเพื่อนส่งยายเป็นครั้งสุดท้าย พูดคุยกับยายเป็นครั้งสุดท้าย น้องอู๋นั่งนิ่งพูดไม่ออก มีแต่แววตาที่มองคุณยายด้วยความห่วงใย ทุกคนนั่งเป็นเพื่อนยายปิว ส่งใจให้ยายไปสู่ภพภูมิที่ดี ป้าแน่ง ป้าออน พูดให้คุณยายสบายใจ อย่าห่วงกังวล คุณยายหายใจเหนื่อย ขยับแขนขาเล็กน้อย เรานั่งฟังเทปธรรมมะไปพร้อมคุณยายประมาณ 1 ชั่วโมง ป้าแน่งขอตัวกลับก่อน บอกลาและกราบที่หน้าอกยายปิวเป็นครั้งสุดท้าย ป้าแน่งถามว่า เรามีอะไรจะพูดกับยายไหม ข้าพเจ้าขยับตัวเข้าไปนั่งใกล้ ๆ คุณยายพูดบอกให้คุณยายเข้มแข็ง ต่อสู้กับความเจ็บปวดก่อนที่ธาตุขันธ์จะแตกดับ อดทนต่อสู้กับความเหนื่อยที่ต้องเผชิญ ให้คุณยายนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เคารพนับถือ นึกถึงครูบา อาจารย์ที่สกลนครที่คุณยายเคยกราบไหว้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ใจคุณยายมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีทานศีล กุศลที่ทำเป็นที่พึ่ง.....
ก่อนกลับ ป้าน้อยบอกว่าจะขอเป็นเพื่อนคุณยายต่อ ให้ป้าแน่งกับข้าพเจ้ากลับมาก่อนหลังจากบอกลา ยายปิวแล้ว ป้าออนออกมาส่ง ข้าพเจ้ากับป้าแน่งที่หน้าบ้านบอกกล่าวขอบคุณด้วยความจริงใจ วันนี้คงไม่ได้ไปเยี่ยมยายคำฝุ่นแล้วเพราะเวลาคงไม่พอ ไว้วันหลังก่อนก็แล้วกัน....
ข้าพเจ้ากลับมาที่โรงพยาบาลเวลา 15.00 น. มาทำงานช่วยเพื่อนที่ตึกต่อ แต่ใจก็คิดถึงยายปิวว่าจะเป็นยังไงบ้าง เวลา 17.00 น. ข้าพเจ้ากับน้องแอนกำลังจะกลับบ้าน น้องแอนรอข้าพเจ้าอยู่นอกห้องพักเวร ได้ยินเสียงป้าแน่งเรียก “แอน ๆ คุณยายปิวเสียแล้วน่ะ” ข้าพเจ้ารีบเดินออกมาจากห้องพักเวร ถามป้าแน่ง “จริงเหรอค่ะป้าแน่ง” ถามทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นความจริงแน่ ๆ ข้าพเจ้ากับน้องแอนมองหน้ากันรู้สึกสงสารคุณยายเหมือนๆกัน ป้าน้อยโทรมาบอกคุณยายจากไปอย่างสงบ น้องอู๋ ป้าออน ยังคงกุมมือจนกระทั่งคุณยายจากไป ความผูกพันธ์ของคุณย่ากับหลานชายสุดที่รัก ยากที่จะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้การได้จากโลกนี้ไปท่ามกลางคนที่รัก คงทำให้คุณยายอบอุ่นและสุขใจอย่างที่สุด ...
* การทำสิ่งดี ๆ ตอบแทนคนที่คุณรักครั้งสุดท้าย ก่อนจะจากกัน คุณล่ะทำอะไรดี ๆ เพื่อคนที่คุณรักหรือยัง*